นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์รับรางวัลเหรียญทองและเหรียญทองแดง จากการนำเสนอโครงงานในเวที the 4th Indonesia International Applied Science Project Olympiad ซึ่งจัดการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 19-22 ธันวาคม พ.ศ. 2566
การแข่งขันโครงงานระดับนานาชาติ the 4th Indonesia International Applied Science Project Olympiad (I2ASPO 2023) จัดโดย Indonesian Young Scientist Association (IYSA) สถาบันพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนอินโดนีเซีย ผ่านการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับ Faculty of Science and Data Analytics (FSAD), Institut Teknologi Sepuluh Nopember (ITS) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย หนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเฉพาะทางที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยและโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมโลกอนาคต
the 4th Indonesia International Applied Science Project Olympiad จัดกิจกรรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ระหว่างวันที่ 19 – 22 ธันวาคม พ.ศ.2566 ณ Department of Actuary, Faculty of Science and Data Analytics (FSAD), Institut Teknologi Sepuluh Nopember (ITS) ณ เมืองสุราบายา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีผู้สนใจร่วมนำเสนอผลงานทั้งหมด 779 โครงงาน ประกอบด้วย โครงงานที่เข้าร่วมนำเสนอรูปแบบออนไลน์ 559 โครงงาน และโครงงานที่เข้าร่วมนำเสนอรูปแบบออนไซต์ 224 โครงงาน จากโรงเรียนใน 17 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศทูร์เคีย สาธารณรัฐไต้หวัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ประเทศไทย สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ประเทศโรมาเนีย สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล เครือรัฐปวยร์โตรีโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และสหรัฐเม็กซิโก
โอกาสนี้ นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้เข้าร่วมนำเสนอโครงงานในรูปแบบออนไลน์ จำนวน 2 โครงงาน และได้รับรางวัลดังนี้
โครงงานสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ เรื่อง “SynFF: Fuzzy Function Inspired Deep Learning for Anticancer Drug Combination Prediction” นำเสนอโดย นายปัณณวิชญ์ วรภาสไพบูลย์นักเรียนชั้น ม.6/9 และ นายภัคพิพัฒน์ เอี่ยมพงษ์ไพฑูรย์ นักเรียนชั้น ม.6/6 โดยมี ดร.ศิริพร ศักดิ์บุญญรัตน์ ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
โครงงานสาขาวิชาฟิสิกส์เรื่อง “Personalized human speech cancellation using synthesized voice.” นำเสนอโดย นายอภินัทธ์ งามพันธุ์ไพศาล นักเรียนชั้น ม.5/10 นางสาวสุพิชชา ฉันทวรางค์ นักเรียนชั้น ม.5/10 และ นางสาวอชิรญาณ์ สุวรรณรัตน์ นักเรียนชั้น ม.5/10 ซึ่งมี อาจารย์จตุพร พันตรี ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
งานวิเทศสัมพันธ์ (ข้อมูล/ภาพ)
ศูนย์พัฒนาสื่อดิจิทัล (เรียบเรียง)