โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย Korea Science Academy of KAIST สาธารณรัฐเกาหลี จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและวัฒนธรรมในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 12-16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
การจัดกิจกรรมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ Korea Science Academy of KAIST สาธารณรัฐเกาหลี ในรูปแบบออนไลน์จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากในครั้งที่ผ่าน ๆ มา นักเรียนทั้งสองโรงเรียนได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรม ณ โรงเรียนอีกฝ่ายหนึ่ง โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มี นางสาวธิวาวัน พราหมณ์พันธุ์ ครูสาขาวิชาภาษาต่างประเทศ เป็นครูผู้ดูแลนักเรียน จำนวน 8 คน ประกอบไปด้วย นางสาวชุตินันต์ สุขพงศ์จิรากุล นักเรียนชั้น ม.4/5 นางสาวพรลภัส บุญวิชัย นักเรียนชั้น ม.5/10 นายจิรายุ หงส์อมตะ นักเรียนชั้น ม.6/2 นายกวีรภัทร์ ไชยไธสง นักเรียนชั้น ม.6/4 นางสาวกวิสรา รุจิประภากร นักเรียนชั้น ม.6/6 นายกษิดิศ วิบูลย์เกียรติ์ นักเรียนชั้น ม.6/7 นายจิรัฏฐ์ สตีเฟ่น ลำเพาพงศ์ นักเรียนชั้น ม.6/9 และ นายปาติโมกข์ สหะพล นักเรียนชั้น ม.6/9 เข้าร่วมกิจกรรม
กิจกรรมโครงการแลกเปลี่ยน เปิดโอกาสให้นักเรียนทั้งสองโรงเรียนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่มีความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการในรูปแบบปฏิบัติการ (Workshop) ทั้งในวิชาเคมี หัวข้อ “Molecular Mystery Workshop” ซึ่ง ดร. สาโรจน์ บุญเส็ง ดร. เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ดร. ณรงค์ศักดิ์ ขุนรักษา และ ดร.ณิชาพัฒน์ ทองใส ครูสาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อให้นักเรียนทั้งหมดได้ศึกษาการสั่นของโมเลกุล (Molecular Vibration) โดยใช้โปรแกรม Avogadro และ การเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ หัวข้อ “Binomial Expansion Theorem” เกี่ยวกับทฤษฎีบทวินาม โดยครูสาขาคณิตศาสตร์ ของ Korea Science Academy of KAIST นอกจากนี้ นักเรียนของ Korea Science Academy of KAIST ยังได้แบ่งปันประสบการณ์การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และการเป็นนักเรียนต่างชาติใน Korea Science Academy of KAIST ด้วย
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักเรียนทั้งสองโรงเรียนให้ความสนใจ โดยนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้สอนภาษาไทยเบื้องต้นสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน การทำอาหารไทยเมนูยอดนิยมอย่างส้มตำ โดยในครั้งนี้ ได้ผสมผสานวัตถุดิบของอาหารไทยและอาหารเกาหลีเข้าด้วยกัน รังสรรค์เป็นเมนูใหม่ “ส้มตำทอดราดซอสโคชูจัง” และ การพาชมสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และย่านเยาวราช ในรูปแบบของ Virtual Excursion ขณะเดียวกัน Korea Science Academy of KAIST ได้แนะนำวัฒนธรรมเกาหลีในด้านต่าง ๆ เช่น การคำนับ ภาษาเกาหลี อาหารเกาหลี หรือเครื่องแต่งกายประจำชาติอย่างชุดฮันบก ที่ Korea Science Academy of KAIST ได้ส่งชุดฮันบกมาให้ครูและนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ลองสวมใส่ถึงประเทศไทย
โศลดา รชตะพฤกษา (ข้อมูล/ภาพ)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (เรียบเรียง)