โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับเกียรติจาก Dr.Bruno Gardini จาก องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ผู้มีส่วนร่วมในโครงการ Lunar Lander ในปี พ.ศ. 2548 และ Prof. Martin Kunz, Physique Theorique จาก Université de Genève ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) โดยทั้งสองท่านได้มาร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Space Mission Design” และ “Science from space, a tale of two missions” ตามลำดับ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ หอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
สำหรับการบรรยายพิเศษในครั้งนี้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับ
การบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบภารกิจอวกาศ โดยได้ยกตัวอย่างภารกิจ Rosetta ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดาวหาง 67P Churyumov-Gerasimenko เป็นกรณีศึกษา โดยหลังจากแนะนำจุดมุ่งหมายทางวิทยาศาสตร์และความต้องการของภารกิจโดยสรุปแล้ว การนำเสนอได้เน้นไปที่การออกแบบยานอวกาศและภารกิจ รวมถึงการเคลื่อนย้ายวงโคจร เกณฑ์การกำหนดขนาดของเครื่องกำเนิดพลังงานแสงอาทิตย์ การควบคุมอุณหภูมิของยานอวกาศ และความสามารถในการติดตามของภาคพื้นดิน ในตอนท้ายได้มีการสรุปประวัติย่อของภารกิจจริงรวมอยู่ด้วย
การบรรยายเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงภารกิจดาวเทียม Planck ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ไมโครเวฟที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2009 โดย Prof. Martin Kunz ได้กล่าวถึงการออกแบบดาวเทียมในเชิงวิทยาศาสตร์และเหตุผลในการส่งขึ้นไปยังอวกาศ จากนั้น ได้อธิบายถึงการสังเกตพื้นหลังไมโครเวฟคอสมิก (Cosmic Microwave Background) ที่เรียกว่า “the echo of the big bang” ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้จักรวาล นอกจากนี้ Prof. Martin Kunz ยังกล่าวถึงภารกิจดาวเทียม Euclid ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดใกล้และแสงที่มองเห็นได้ ที่มีการส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา