การทำหน้าที่ครูที่ปรึกษาโครงงานให้กับนักเรียน เป็นหนึ่งในภารกิจของคุณครูโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการวิจัย การคิดวิเคราะห์ การทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นแนวทางไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ คิดค้น ให้กับนักเรียน บทบาทของคุณครูในการผลักดันนักเรียนจากจุดเริ่มต้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก การพัฒนาจะมีกระบวนการอย่างไร วันนี้เราจะไปเจาะลึกถึงบทบาทครูที่ปรึกษาโครงงานจากหนึ่งในคุณครูที่ทำหน้าที่ดังกล่าวกัน
ดร. เกียรติภูมิ รอดพันธ์ หรือ อาจารย์มาร์ทของเด็ก ๆ เป็นครูผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Nanoscale materials/Coordination Chemistry โดยตลอดเส้นทางการทำงานในฐานะคุณครูสาขาเคมี หลังจบการศึกษาปริญญาเอกจาก University of Otago ประเทศนิวซีแลนด์ อาจารย์ได้ผลักดันและสนับสนุนการทำโครงงานของนักเรียนตั้งแต่จุดเริ่มต้น สร้างโอกาสให้พวกเขาไปสู่เส้นทางการแข่งขันและคว้ารางวัลจากเวทีการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศมามากมาย อาทิ Young Scientist Competition (YSC), International Conference of Young Scientists (ICYS), Kolmogorov Readings International Science Conference, International Student Science Fair (ISSF) รวมถึงเวทียิ่งใหญ่ อย่าง Intel International Science and Engineering Fair และ Regeneron International Science and Engineering Fair
บทบาทของครูที่ปรึกษาโครงงาน
“ที่ปรึกษาโครงงานต้องคอยช่วยเหลือ สนับสนุน และให้กำลังใจ ตลอดเส้นทางการทำโครงงานครับ ตั้งแต่การเริ่มคิดหัวข้อโครงงานที่ดี การทำการทดลองก็ต้องช่วยคิดวิเคราะห์ว่าวิธีการหรือกระบวนการใดเหมาะสมที่จะนำมาทำการทดลอง ไปจนถึงขณะทำการทดลอง ก็ต้องคอยดูแลนักเรียนให้ใช้ทักษะในภาคปฏิบัติการได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการนำเสนอสิ่งที่ทำไปว่า จะสื่อสารอย่างไรให้เข้าใจได้ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด”
ความยากในการพัฒนานักเรียนสู่ความสำเร็จ
“การที่นักเรียนจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้ สิ่งสำคัญคือเค้าต้องมีใจรักที่จะทำในสิ่งนั้น มี passion มีความสนใจในสิ่งนั้นจริง ๆ ดังนั้นความยากก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เค้ามีใจรักในสิ่งที่เค้าจะทำครับ”
ถ่ายทอดประสบการณ์การวิจัย กระตุ้นให้นักเรียนรักในการทำโครงงาน
“ตลอดการให้คำปรึกษาในการทำโครงงาน เราได้นำประสบการณ์การทำวิจัยและองค์ความรู้ของเรามาถ่ายทอดให้กับนักเรียน มาช่วยคิด ช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาจนนักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ทำและมีใจรักที่จะทำจริง ๆ
“ใจรัก” ในการทำโครงงาน จะทำให้เค้าทุ่มเทอย่างเต็มที่ แม้จะเกิดปัญหาหรืออุปสรรคอะไรขึ้น เค้าก็ยังมีกำลังใจและคิดเสมอว่า ถ้าผ่านมันไปได้เขาจะประสบการณ์ความสำเร็จในสิ่งที่เขารัก ซึ่งจะทำให้เค้าพยายามทำมันออกมาอย่างสุดความสามารถ สุดท้ายไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยเค้าก็จะเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำเต็มที่แล้ว”
ด้วยความรู้ ความสามารถ และความทุ่มเทในการให้คำแนะนำและพัฒนานักเรียนในการทำโครงงาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2563 ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Award 2020 ในฐานะผู้สนับสนุนเยาวชนในการทำผลงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งเราเชื่อว่าหลังจากนี้ อาจารย์จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนานักเรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และมีคุณลักษณะของนักวิจัยต่อไป