เมื่อเรานึกถึงโครงงานวิทยาศาสตร์ สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว คือ เข้าใจยาก มีความเป็นวิชาการสูง เป็นผลงานขึ้นหิ้ง แต่ใครจะทราบว่า เด็กไทยสมัยนี้เริ่มวิจัยเรื่องใกล้ตัวและจับต้องได้มากขึ้น อย่างโครงงานของสามหนุ่มที่เราจะร่วมพูดคุยกับพวกเขาวันนี้ เป็นผลงานการพัฒนาชุดทดสอบเหงื่อที่มีสามารถในประเมินความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ซึ่งโครงงานนี้ได้เปิดโอกาสและประสบการณ์ให้พวกเขาไปร่วมนำเสนอและคว้ารางวัลจากเวทีต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมามากมาย
จีน-พัฒฒ์ พฤฒิวิลัย คุณ-กฤษฏิ์ กสิกพันธุ์ และ กร-กรวีร์ ลีลาอดิศร ทั้งสามคนคือเจ้าของผลงานเรื่อง “นวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต เเละ ค่ากรดเบส สู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน” ที่คว้ารางวัล
- The 1st Award in Life Sciences from Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society และ The 4th Grand Award in Biomedical and Health Science จากงาน Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) ณ สหรัฐอเมริกา
- Top Presenters ประเภท Poster Presentations: High School Division Award in Chemistry จากเวทีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Sigma Xi Annual Meeting & Student Research Conference ณ สหรัฐอเมริกา
- Best Presentation Award in Science Report Presentation จากงาน International Students’ Science Fair 2021 & The 3rd Beihang International Science Fair ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
- Best of Biological Science : Prime Minister’s Science Project Award 2021 – Best of Category ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากการประกวด Prime Minister’s Science Award 2021
- รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ และ รางวัลชนะเลิศ สาขาเคมี รอบภูมิภาค จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition, YSC 2021)
ผลงานจากการนำเสนอในแต่ละเวทีไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แต่กว่าจะได้รางวัล ย่อมต้องเตรียมตัวและความพร้อมกันเป็นอย่างดี
ความสนใจและปัญหาที่พบเจอ เป็นที่มาของโครงงานเรื่องนี้
- [พัฒฒ์] “ตอนแรกพวกผมจะทำโครงงานเกี่ยวกับเเคลเซียม โดยเป็นการทำชิ้นกระดูกเทียมที่จำลองจากวัสดุตามธรรมชาติครับ เเต่ไปไม่รอด 5555 มันยากมาก ๆ ก็เลยมานั่งคุยกันว่าจะทำโครงงานเรื่องอื่น เเต่คุยไปคุยมาก็วนอยู่แต่เรื่องเเคลเซียมและเรื่องกระดูกครับ ผนวกกับที่คุณยายของผมเคยเข้ารับการผ่าตัดเข่าเพราะกระดูกพรุน เลยสนใจทำโครงงานเเก้ไขเรื่องกระดูกพรุนครับ”
ประสบการณ์สนุกๆ และน่าจดจำในการทำโครงงาน
- [พัฒฒ์] “มีช่วงหนึ่งที่ต้องเร่งทำโครงงาน พวกเรา 3 คน จึงต้องทำเเล็บถึง 3 ทุ่มกว่า ๆ เเล้วหอพักที่โรงเรียนปิด 4 ทุ่มครับ คืนนั้นพวกเราเลยต้องรีบเก็บของ เเละวิ่งจากตึกเรียนมาขึ้นหอพักให้ทัน อีกเรื่องที่สนุกคือ ตอนร่วมกิจกรรม ISEF ผู้จัดงานได้จัด space ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าเเข่งขันพูดคุยกัน ผ่านตัวการ์ตูนของเเต่ละคน ผมเดินไปเจอฝรั่งคนนึง ผมเลยชวนเค้าเต้นครับ ในนั้นมีปุ่มให้กดว่าท้าเต้นอยู่ เเล้วเค้าก็เต้นด้วย สุดท้ายผมดูชื่อเค้า เค้าเป็นบอร์ดบริหารของ Science Society เลยครับ 555”
เรื่องยากที่สุดในการทำโครงงาน
- [กรวีร์] “มีหลาย ๆ อย่างที่ยาก ไม่ว่าจะเป็น ความยากในการทดลอง เพราะในแต่ละขั้นตอนการทดลอง กว่าพวกเราจะผ่านไปได้ ก็ต้องทำการทดลองซ้ำ ๆ พร้อมกับหาข้อผิดพลาดและแก้ไข ซึ่งก็ยากมากแต่ก็ต้องผ่านไปให้ได้ และอาจจะเป็นความรู้สึกเหนื่อยหรือท้อระหว่างทาง เพราะว่าระหว่างทำโครงงานนั้น มักจะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคอยู่เสมอ และเมื่อเราติดอยู่กับปัญหาที่แก้ไขไม่ได้สักที ก็จะรู้สึกว่าเราไม่น่าทำได้ จึงต้องไปปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาและช่วยกันแก้ไขให้ได้ในที่สุด”
โครงงานจะเกิดประโยชน์ ถ้าเตรียมพร้อมนำเสนอให้ผู้ฟังเข้าใจ
- [กฤษฏิ์] “อันดับแรก ต้องทำสไลด์เพื่อนำเสนอการทดลองก่อนครับ โดยพวกผมจะแบ่งกันทำในแต่ละหน้าแล้วตรวจทานพร้อมกันว่า หากตัวเองเป็นผู้ชม จะดูเข้าใจไหม จากนั้นจะแบ่งบทพูดและฝึกซ้อมครับ กลุ่มพวกผมฝึกซ้อมหนักมาก เพราะเชื่อว่าทักษะการพูดเป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ โดยจะมีอาจารย์ที่ปรึกษามารับชมพวกเราซ้อม เพื่อให้คำแนะนำและดูว่าพวกเราพูดรู้เรื่องไหมครับ 55”
ความกดดัน ความอึด และไม่ย่อท้อ ผลักดันสู่ความสำเร็จ
- [กฤษฏิ์] “ในส่วนของการนำเสนอในเวทีที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ISEF รู้สึกกดดันมากครับ เนื่องจากแตกต่างจากการนำเสนอทั่วไปที่มีการนำเสนอแค่รอบเดียว แต่ ISEF จะแบ่งกรรมการหลาย ๆ เซ็ต แล้วหมุนเวียนมาให้นำเสนอและถาม-ตอบ ทำให้นอกจากจะต้องนำเสนอดีแล้วยังต้องมีความอึด ไม่เหนื่อย ไม่ท้ออีกด้วย แต่ก็ได้พัฒนาทักษะหลายอย่างมากเลยครับ ในส่วนของ YSC และ ISSF จะเป็นการนำเสนอรอบเดียวแล้วถาม-ตอบ ทำให้มีเวลานำเสนอมากขึ้น สามารถจัดหนักจัดเต็มได้มากกว่าครับ”
โครงงานคือการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์
- [พัฒฒ์] “ผมมองว่ามันเป็นเรื่องดีมาก ๆ เลยนะครับ กับการที่โรงเรียนให้นักเรียนทำโครงงาน โรงเรียนสนับสนุน มีอาจารย์และบุคลากรที่พร้อมสนับสนุน ผมมองว่างานวิจัยที่สำคัญ ๆ ในอนาคต หรือโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ล้วนมาจากไอเดียเเละการลงมือทำตั้งเเต่เด็กครับ”
- [กรวีร์] “โครงงานเป็นเหมือนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ถึงแม้จะเหนื่อยระหว่างทาง แต่ก็คุ้มค่าในท้ายที่สุด ถึงแม้จะเหนื่อยก็ขอให้ผ่านไปให้ได้ เพราะจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับทุก ๆ คน”
- [กฤษฏิ์] “สุดท้ายนี้ พวกเราต้องขอขอบพระคุณ อ.มาร์ท-ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ผู้ที่สนับสนุนการทำโครงงานให้ทุกขั้นตอน ทั้งในส่วนของความรู้ที่ทำให้การทดลองออกมาถูกต้องตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเป็นกำลังใจให้พวกผมเสมอมา”