โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมกิจกรรมนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติในงาน Japan Super Science Fair 2024 ระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ Ritsumeikan High School เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พร้อมด้วย ดร. สิทธิโชค โสมอ่ำ ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ ได้นำนักเรียนเข้าร่วมนำเสนอโครงงาน จำนวน 2 โครงงาน รวม 6 คน ซึ่งทั้งสองโครงงานนี้ ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอทั้งในรูปแบบ Science Project Oral Presentations และ Project Poster Presentations โดยมี ดร. สิทธิโชค โสมอ่ำ เป็นครูที่ปรึกษาโครงงานทั้งคู่
โครงงานที่ร่วมนำเสนอภายในงาน Japan Super Science Fair 2024 ได้แก่
- โครงงานสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ เรื่อง “Artificial Neural Networks for Identifying Potential Repurposed Drugs in Alcoholism and Alcohol Withdrawal Relief: Enabling Future Applications in Medical Research” ของ นางสาวธันยากานต์ ศิริไพรวัน นักเรียนชั้น ม.6/2 นางสาวพุฒิพร เจริญวิมลรักษ์ นักเรียนชั้น ม.6/2 และ นางสาวสายวรรณศิลป เสียงหลาย นักเรียนชั้น ม.6/2
- โครงงานสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ เรื่อง “Forecasting Japanese Cedar (Cryptomeria japonica) Pollen Count from Past Meteorological Factors Using Machine Learning in Ukyo Ward, Kyoto, Japan ของ นายปพนศักดิ์ สุขเสรีทรัพย์ นักเรียนชั้น ม.5/1 นายศุภกฤฒ สุขานนท์สวัสดิ์ นักเรียนชั้น ม.5/7 และ นายอัครภาคย์ ก้องศิริวงศ์ นักเรียนชั้น ม.5/10 โดยโครงงานนี้เป็นโครงงานร่วมกับนักเรียนของ Ritsumeikan High School
ในการนำเสนอโครงงาน มีการแบ่งตามสาขาต่าง ๆ จำนวน 7 ห้อง ได้แก่ Biology, The Environment, Chemistry, Robotics, Earth Science, Physics และ Computer science ซึ่งนอกจากจะมีผู้ร่วมงานเข้ารับฟังการนำเสนอในแต่ละห้องแล้ว ผู้จัดงานยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจจากทั่วโลกเข้ารับชมผ่าน Zoom ได้ด้วย
นอกเหนือจากการนำเสนอโครงงาน นักเรียนยังได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- การเยี่ยมชม มหาวิทยาลัย Ritsumeikan Campus OIC ซึ่งเพิ่งสร้างใหม่ นักเรียนได้มีโอกาสรับฟัง Mock Lecture ของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับ AI และรับชมโครงงานและงานวิจัยของนักศึกษา
- การแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองระหว่างกันในกิจกรรม Science Discussion ในหัวข้อเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออนาคต ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีหัวข้อแตกต่างกัน เช่น Future transportation, Future Energy, Future Accommodation เป็นต้น โดยช่วงท้ายแต่ละกลุ่มได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดให้เพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ได้รับฟัง
- การบรรยายพิเศษ โดย ผู้เชี่ยวชาญในด้านอวกาศได้อธิบายถึงความก้าวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ที่อนาคตจะนำทุกคนไปใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ รวมถึงประวัติศาสตร์และความก้าวหน้าในปัจจุบันเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ และความสำคัญของการสำรวจอวกาศที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของมนุษยชาติ
- กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เช่น กิจกรรม Science Showdown ที่ให้สร้างทางเคลื่อนที่ของลูกแก้ว โดยให้ลูกแก้วถึงจุดหมายช้าที่สุดและไม่หยุดกลางทาง หรือ กิจกรรม Science Sleuthing ซึ่งเป็นเกมสืบสวนตามหาคนร้ายที่ขโมยตัว S ไป
- กิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งการออกบูทแสดงวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งนักเรียนได้นำขนมของไทย และการละเล่นต่าง ๆ ไปสอนเพื่อน เช่นเดินกะลา และหมากเก็บ พร้อมทั้งแต่งชุดราชปะแตน และ ชุดผ้าถุงห่มสไบ ไปโชว์ด้วย นอกจากนี้ยังมีการแสดงร่วมกับนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่มีการร้องเพลงนิทานพันดาวและรำไทย ส่วนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนไทยอีกโรงเรียนที่เข้าร่วมงานได้ทำการแสดงโขน
- กิจกรรม Science Zone โดยเลือกร่วมกิจกรรมตามความสนใจ เช่น สร้างสะพานจากกระดาษที่สามารถรับน้ำหนักได้มากที่สุด
- การเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ เช่น ศาลเจ้า Fushimi Inari อันโด่งดัง ที่มีประตู “Tori” มากกว่า 1,000 บาน และ Kiyomizu-Dera ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่บนเนินเขาในเกียวโต