คณะครูและนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและวัฒนธรรม ณ Aichi Prefectural Handa Senior High School ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 17 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้มอบหมายให้ อาจารย์อาริตา ปลื้มถนอม ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ อาจารย์สุวพิชญ์ ค้าฮั้ว หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป นำนักเรียนจำนวน 8 คน เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและวัฒนธรรม ณ โรงเรียน Aichi Prefectural Handa Senior High School (Handa) ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศญี่ปุ่นให้ร่วมโครงการ Super Science High School (SSH) โดยมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนที่มีศักยภาพสูงด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ให้สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต
คณะครูและนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ
- การเข้าชั้นเรียนพิเศษเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้แก่ การใช้พู่กันเขียนตัวอักษรญี่ปุ่น (Calligraphy Class) การเรียนเทคนิคการสร้างลวดลายลงบนพัดญี่ปุ่น (Marbling Art) พิธีชงชา (Tea Ceremony Class) เป็นต้น
- การเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมด้านวิทยาศาสตร์ ดนตรี กีฬา และวัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้แก่ ชุมนุม Natural Science ชุมนุมภาษาอังกฤษ ชุมนุมกระจายเสียง ชุมนุมกรีฑา ชุมนุมเบสบอล ชุมนุมยิงธนู ชุมนุมฟุตบอล เป็นต้น
- กิจกรรม Sharing Session ซึ่งนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้นำเสนอข้อมูลโรงเรียน วัฒนธรรมไทย พร้อมทั้งเตรียมการแสดงรำไทยและเต้น T-pop และการนำเสนอโครงงานของนักเรียนชั้น ม.6 จำนวน 5 โครงงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและวัฒนธรรมให้กับนักเรียนญี่ปุ่น
- กิจกรรม Host Family การเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ผ่านการพักอาศัยกับครอบครัวอุปถัมภ์ตลอดโครงการ
- การศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ได้แก่
1) Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโตโยต้า โดยได้ศึกษาประวัติความเป็นมาและความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของบริษัทโตโยต้า
2) LIXIL FACTORY เรียนรู้กระบวนการผลิตสินค้าของบริษัท LIXIL ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์กระเบื้องเเละสุขภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น
3) INAX Live Museum พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของดิน การปั้นเครื่องปั้นดินเผา และจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาจากทั่วโลก
4) Nagoya City Science Museum พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์นาโกย่า ที่ภายในมีโดมท้องฟ้าจำลองที่ทันสมัยที่สุดในโลก
5) Institute of Transformative Bio-Molecules (ITbM), Nagoya University ซึ่งนอกจากจะได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและการวิจัยของมหาวิทยาลัยแล้ว นักเรียนกลุ่มหนึ่งได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานให้กับอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้รับฟังด้วย นอกจากนี้ คณะครูและนักเรียนยังได้มีโอกาสพบปะกับนักเรียนเก่าที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาโกย่า
งานวิเทศสัมพันธ์ (ภาพ/ข้อมูล)