โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นำโดย คณะผู้บริหารโรงเรียน ร่วมให้การต้อนรับ คณะครูและนักเรียนแลกเปลี่ยนจาก National Junior College สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในโอกาสเดินทางมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งในด้านการทำโครงงาน ความรู้ทางวิชาการ และการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
คณะครู National Junior College (NJC) จำนวน 2 คน พร้อมด้วยนักเรียนอีก 7 คน นอกจากจะเดินทางมาแลกเปลี่ยนรู้ทางวิชาการและวัฒนธรรมในชั้นเรียนพิเศษที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดเตรียมไว้อย่าง การเรียนรำไทย ศิลปะ ดาราศาสตร์ และภาษาไทย ทั้งหมดยังได้ศึกษาดูงาน ณ สวนสามพราน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทยผ่านกิจกรรมลอยกระทง การท่องเที่ยว ณ พัทยา และศูนย์การค้าไอคอนสยาม
แต่กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์กับ National Junior College แตกต่างจากโครงการแลกเปลี่ยนของโรงเรียนเครือข่ายอื่น ๆ คือ การที่นักเรียนทั้งสองโรงเรียนได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ร่วมกัน (Collaborative Research Project) ซึ่งปีนี้ มีโครงงานร่วมกันถึง 3 หัวข้อ ได้แก่
- โครงงานของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศึกษาในหัวข้อ “วัสดุดูดซับน้ำมันและสารอินทรีย์จากยางพาราผสมเซลลูโลสและซิลิกา” เป็นโครงงานของ นายภูมิพิรัชย พันพินิจ นักเรียนชั้น ม.6/8 นางสาวณัฐณิชาช์ วาสุเทพรักษ์ นักเรียนชั้น ม.6/8 และ นายจิรัฏฐ์ ฉัตรศรีนพคุณ นักเรียนชั้น ม.6/8 มี ดร.อุษา จีนเจนกิจ ครูสาขาวิชาเคมี เป็นที่ปรึกษาโครงงาน โดยได้ศึกษาวิธีการกำจัดน้ำมันด้วยวัสดุดูดซับที่ทำมาจากยาง ขุยมะพร้าวและซิลิกาไฮโดรโฟบิก เนื่องจากปัจจุบันมีงานวิจัยที่ใช้ยางเป็นตัวดูดซับแต่ก็ยังพบปัญหาอยู่ว่ามีน้ำหนักมาก จึงพัฒนาให้ยางเป็นไฮโดรโฟบิก จากนั้นเพิ่มรูพรุนด้วยขุยมะพร้าวและเพิ่มซิลิกาไฮโดรโฟบิกเพื่อดูดซับน้ำมันมากขึ้นและน้ำน้อยลง
- โครงงานของนักเรียน National Junior College ศึกษาในหัวข้อ “The development of absorbent factors influencing oil adsorption of hair.” เป็นการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการดูดซับน้ำมันจากเส้นผมที่ถูกปรับปรุงพันธะด้วยกรดซัลฟิวริกและกรดฟอสฟอริกในระยะเวลาที่แตกต่างกัน
โดยทั้งสองโครงงานนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการดูดซับน้ำมันเหมือนกัน
- โครงงานของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศึกษาในหัวข้อ “การพัฒนาเซนเซอร์ชนิดการไหลในแนวระนาบสำหรับการตรวจโรคไวรัสตับอักเสบบีจากน้ำลาย” เป็นโครงงานของ นายณัฐชานนท์ รองเดช นักเรียนชั้น ม.6/2 และ นายกริชเพชร โคตรหลักคำ นักเรียนชั้น ม.6/8 มี ดร.อุษา จีนเจนกิจ ครูสาขาวิชาเคมี เป็นที่ปรึกษาโครงงาน เป็นโครงงานที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจแอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ซึ่งสามารถแสดงผลให้เห็นด้วยตาเปล่าได้ โดยใช้เทคนิคทดสอบอิมมูแอสเสย์ชนิดการไหลในแนบระนาบ (Lateral flow immunoassay) โดยเริ่มจากการศึกษาการสังเคราะห์อนุภาคทองคำขนาดนาโนเมตร (Gold nanoparticles; AuNPs) ซึ่งใช้เป็นโมเลกุลรายงานบนเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้น จากนั้นทำการศึกษาหาภาวะที่เหมาะสมบนเส้นทดสอบเพื่อใช้สำหรับตรวจแอนติเจนไวรัสตับอักเสบบีในน้ำลาย
- โครงงานของนักเรียน National Junior College ศึกษาในหัวข้อ “The Development of Lateral Flow Immunoassay for Detection of Hepatitis B in Saliva Using Silver Nanoparticles” เป็นโครงงานที่พัฒนาเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจแอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) โดยใช้เทคนิคทดสอบอิมมูแอสเสย์ชนิดการไหลในแนบระนาบ (Lateral flow immunoassay) ซึ่งใช้อนุภาคเงินขนาดนาโนเมตร (Siver nanoparticles; AgNPs) เป็นโมเลกุลรายงาน
โครงงานทั้งสองหัวข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจแอนติเจนไวรัสตับอักเสบบีจากน้ำลายของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้การคัดกรองผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยแต่ละโครงงานจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ที่ใช้โมเลกุลรายงานคนละชนิดกัน
- โครงงานของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศึกษาในหัวข้อ “การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการจัดแผนการท่องเที่ยวโดยใช้หลักโลจิสติกส์การท่องเที่ยวในพื้นที่การบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน” เป็นโครงงานของ นายกษิดิ์พิชญ์ วิภาตะรักษ์ นักเรียนชั้น ม.5/4 นายกิตติธัช เทียนโพธิวัฒน์ นักเรียนชั้น ม.5/4 และ นายปรัชญ์วิรุฬ เพทัย นักเรียนชั้น ม.5/4 มี ดร.สิริรัตน์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ครูสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน โดยโครงงานนี้เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแนะนำและให้ข้อมูลประกอบการวางแผนและการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยว โดยใช้หลักการโลจิสติกส์การท่องเที่ยว เพื่อให้นักเดินทางที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนเกิดความพึงพอใจสูงสุด
- โครงงานของนักเรียน National Junior College ศึกษาในหัวข้อ “Fostering Urban Livability with Effective Public Transport” โดยศึกษาความน่าอยู่ของเมืองผ่านระบบขนส่งสาธารณะ โดยเปรียบเทียบระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยและสาธารณรัฐสิงคโปร์
การศึกษาโครงงานทั้งสองนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ขนส่งสาธารณะในการพัฒนาเมือง
งานวิเทศสัมพันธ์ (ภาพ/ข้อมูล)
ศูนย์พัฒนาสื่อดิจิทัล (ภาพ/สรุป)