นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ และเหรียญเงินจากการแข่งขันโครงงาน จากการเข้าร่วมค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงศึกษาธิการ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดกิจกรรมค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 19 (The 19th Thailand Young Scientist Festival : TYSF19) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความรู้ ความสามารถ ทักษะกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการประกวดทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่หลากหลาย ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2566 โดยมี ครูและนักเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ใน 7 รายการ ได้แก่ การแข่งขันวาดภาพการ์ตูนทางวิทยาศาสตร์ การแข่งขันวาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ การแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ การแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนักวิทยาศาสตร์น้อย การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มอบหมายให้ ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง หัวหน้าฝ่ายบริหารการเรียนรู้และระบบโรงเรียนประจำ และ ดร.ปิยภรณ์ อบแพทย์ ครูสาขาวิชาศิลปะศาสตร์ นำนักเรียนจำนวน 5 คน เข้าร่วมแข่งขันใน 2 รายการ ได้แก่ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ และ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
เป็นการแข่งขันตอบปัญหาที่มีเนื้อหาครอบคลุมรายวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ของระดับชั้น ม.4–ม.6 ในรูปแบบทีม ทีมละ 2 คน โดยมีนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เข้าร่วมกิจกรรม 1 ทีม ได้แก่
- นายสุรมิศ บุญสม นักเรียนชั้น ม.6/3
- นายสุรพงษ์ บุญสม นักเรียนชั้น ม.5/3
โดยมี ดร.ปิยภรณ์ อบแพทย์ เป็นครูที่ควบคุมทีม ซึ่งทีมของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ส่งโครงงานวิทยาศาสตร์ ของ นายศุภวิชญ์ จิระเดชะ นักเรียนชั้น ม.6/1 นายทยากร ตั้งศรีวงศ์ นักเรียนชั้น ม.6/1 และ นายธาวิน เลาหะพงษ์พันธ์ นักเรียนชั้น ม.6/1 ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานเรื่อง “ถ่านกัมมันต์ที่มีคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กจากเปลือกทุเรียนเพื่อการดูดซับโลหะหนักในน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ” ที่มี ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง เป็นครูที่ปรึกษาโครงงาน เข้าร่วมประกวด ซึ่งนักเรียนสามารถนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ รับรางวัลเหรียญเงิน ในสาขากายภาพ มาได้สำเร็จ
https://tysf19.sci.psu.ac.th/ (ข้อมูล/ภาพ), สาโรจน์ บุญเส็ง (ภาพ)
ศูนย์พัฒนาสื่อดิจิทัล (สรุป)