นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมกิจกรรมนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติในงาน Japan Super Science Fair 2022 ระหว่าง 1-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ Ritsumeikan High School เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
ปีนี้ Japan Super Science Fair จัดขึ้นเป็นปีที่ 20 ภายใต้ธีม “Rekindle the fire, Light up our future” โดยมีนักเรียน 200 คน จากโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นและโรงเรียนชั้นนำใน 17 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 35 โรงเรียน เข้าร่วมนำเสนอในครั้งนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้คัดเลือกนักเรียน จำนวน 6 คน จาก 3 โครงงาน เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย
โครงงานได้รับคัดเลือกให้นำเสนอแบบ Oral Presentation และนำเสนอภาค Poster Presentation
- โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง “Development of high sensitivity portable test kit for multiple detection of metal ions with minimal amount analysis towards environmental awareness” โดยนางสาวพรรษนันท์ ทุ่งปรือ นักเรียนชั้น ม.6/7 และ นางสาวเบญญาภา อติชาติภัสสร นักเรียนชั้น ม.6/9
โครงงานได้รับคัดเลือกให้นำเสนอภาค Poster Presentation
- โครงงานสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรื่อง “A study of natural polymers and their optimal ratios for biodegradable film production” โดย นางสาววีรินทร์ บรรจงปรุ นักเรียนชั้น ม.6/1
- โครงงานสาขาวิชาฟิสิกส์ เรื่อง “Nondestructive detection system of infestation in rose apple using infrared” โดย นายณัฐนันท์ ชินวรกิจ นายธรรมปพน ชีวรุ่งเรืองสกุล และ นายธัมคูณ นิธีกุลวัฒน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียน ชั้น ม.6/10
ซึ่งไม่เพียงแค่ ดร. สุพรรณี เชื้อนุ่น ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ ที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนให้ดูแลนักเรียนจะเข้าร่วมงานเท่านั้น ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วย ดร.จิโรจน์ แสงรัตนประเสริฐ ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ อาจารย์ธนภัทร สินธวาชีวะ เจ้าหน้าที่กิจกรรมวิเทศสัมพันธ์ งานวิชาการ ได้เข้าร่วมงานนี้ด้วย
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลายทั้งในด้านวิชาการและวัฒนธรรม ประกอบด้วย
- การบรรยายพิเศษ “ในหัวข้อ Research, it is exciting!” โดย Mr. Yoshio Nakatani
- กิจกรรม Science Discussion ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มนักเรียนเพื่ออภิปรายปัญหาในด้านการจราจร อาหาร และโรคติดต่อ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในปี ค.ศ. 2050 โดยผู้จัดงานได้ให้นักเรียนเขียนอธิบายหรือวาดภาพเกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมแนวทางการแก้ไข
- การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ ( Science Project Presentation) ภาคโปสเตอร์และภาคบรรยาย
- กิจกรรม Science Talk ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อทางวิทยาศาสตร์ตามความสนใจ ซึ่งแต่ละหัวข้อนั้นมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศญี่ปุ่นเป็นวิทยากร
- กิจกรรม Science is Fun! การสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งสร้างความสนุกและความน่าสนใจจากครูและนักเรียนไปไม่น้อย
- กิจกรรม Science Showdown เปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละทีมได้ทดลองสร้างรถแข่งและมาแข่งขันร่วมกัน
- กิจกรรม Teachers Session คุณครูผู้ร่วมงานได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนของตน ในส่วนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นั้น ดร.สุพรรณี เชื้อนุ่น ได้ร่วมนำเสนอในหัวข้อ “Computer package at Statistics Class” ด้วย
- กิจกรรม Cultural Exchange นักเรียนแต่ละโรงเรียนมีการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมประจำชาติผ่านการจัดบูธ โดยนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้นำเสนอความเป็นไทยด้วยขนมโบราณและการละเล่นไทย ซึ่งนักเรียนได้ให้เพื่อน ๆ ได้ลองเล่นหมากเก็บ หากสามารถเก็บได้ตามที่กำหนด จะได้รับขนมไทยกลับไปเป็นรางวัล
- กิจกรรม 20th JSSF Special Event เป็นกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่ให้นักเรียนแข่งขัน BrushBot จากชิ้นงานที่สร้างขึ้นเอง
- กิจกรรมศึกษาดูงาน แบ่งเป็น Industrial Tour และ Sightseeing in Kyoto ในเมืองเกียวโตและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีสถานที่ให้นักเรียนเลือกได้ตามความสนใจ โดยนอกจากจะได้รับฟังการบรรยายแล้ว ยังได้เดินชมสถานที่จริงด้วย
- กิจกรรม Science Zone ซึ่งมีทั้งการฟังบรรยายและทดลองปฏิบัติการ เลือกได้ตามความสนใจ
- กิจกรรม Cultural Performances การแสดงทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย นั้น นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้แสดงร่วมกับนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์
ช่วงพิธีปิด นอกจาก Mr. Yasuhiro Higashitani ผู้อำนวยการ Ritsumeikan High School จะมอบประกาศนียบัตรและกล่าวปิดงานแล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนแต่ละโรงเรียนกล่าวถึงความประทับใจด้วย โดย นางสาวเบญญาภา อติชาติภัสสร ได้เป็นผู้แทนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์กล่าวความประทับใจ
การเข้าร่วมงานนี้ ทั้งครูและนักเรียนต่างได้เรียนรู้ทั้งทางด้านวิชาการและวัฒนธรรม พร้อมทั้งสั่งสมประสบการณ์ การเป็น Global Citizenship ผ่านกระบวนการทำงานกับเพื่อนที่มีความแตกต่างทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงเรียนรู้การบริหารจัดการในการจัดงานในอีกบริบทหนึ่งด้วย