โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยความร่วมมือกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จัดอบรมฟิสิกส์อนุภาคพื้นฐาน ประจำปี พ.ศ. 2565 เตรียมความพร้อมผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์น พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เปิดโลกทัศน์เรื่องฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์พลังงานสูง และควอนตัมฟิสิกส์ ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ในรูปแบบออนไลน์
ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จเยือนองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research: CERN) ทรงเล็งเห็นว่า หากนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทํางานวิจัยร่วมกับเซิร์น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงชั้นนําระดับโลก จะสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นอันมาก ทำให้ผู้บริหารของเซิร์นและสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้หารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในความร่วมมือทางวิชาการในแขนงที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์น ครั้งที่ 3 ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552 ได้มีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงความร่วมมือกัน ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถานีวิจัย CMS Experiment ของเซิร์น ซึ่งจากข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ในการดำเนินงานระหว่างเซิร์นและประเทศไทยหลายโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการภายใต้ 5 โครงการหลัก ได้แก่
- โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น
- โครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่เซิร์น
- โครงการ National e-Science Infrastructure Consortium
- โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น
- โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโท-เอก นักวิจัยไปทำงานวิจัย ณ เซิร์น และพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับเซิร์น
โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์อนุภาค เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านวิชาการเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคพื้นฐานและงานวิจัยด้านอนุภาคมูลฐานให้กับนักเรียน นักศึกษา และครูฟิสิกส์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการในโครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์น สำหรับการจัดการอบรมฟิสิกส์อนุภาคพื้นฐานในปีนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยความร่วมมือกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการอบรม ซึ่งนอกจากผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการในโครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์น ข้างต้นแล้ว โรงเรียนยังได้เปิดโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมถึงกลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือครู เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ด้วย รวม 135 คน
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้กล่าวในพิธีเปิดการอบรมฟิสิกส์อนุภาคพื้นฐาน ตอนหนึ่งว่า
“…โครงการไทย-เซิร์นที่จัดให้กับนักเรียน คุณครู และนักวิทยาศาสตร์ของไทย เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ การเตรียมความพร้อมและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคพื้นฐานมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เราก็จะไม่เข้าใจว่าคืออะไร เหมือนเราเรียนภาษาอังกฤษ เราจะเจอศัพท์ใหม่ ๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเจอศัพท์ใหม่ ๆ พร้อมกับไวยกรณ์ ก็คงจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก ดังนั้น ถ้าเรามีความรู้พื้นฐาน เราเตรียมเรื่องพวกนี้ไปก่อน ก็คงจะมีเรื่องให้เราได้คิดตามเพื่อนๆ ต่างชาติ ได้ทัน และเราจะมีโอกาสทำความเข้าใจกับสิ่งที่ท้าทายได้มากยิ่งขึ้น…
…การที่เราศึกษา การที่เราเข้าใจสิ่งที่ท้าทาย สิ่งที่ซับซ้อน จะทำให้เราเก่งขึ้นไปด้วย ทั้งในมุมเราเอง และมุมทั้งประเทศ ปัจจุบันในประเทศไทย เราเห็นวิทยาการที่ล้ำหน้าในวงการวิทยาศาสตร์อย่างมหาศาล เราเห็นสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงานนี้เป็นหลัก สามารถสร้างอานิสงส์ ไม่เพียงแต่วงการวิทยาศาสตร์ แต่เข้าไปถึงภาคอุตสาหกรรม วงการเกษตร วงการแพทย์ เพราะด้วยองค์ความรู้ของฟิสิกส์อนุภาค…”
สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์น ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นั้น มี 2 โครงการ คือ
1. โครงการคัดเลือกนักศึกษา และครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น
ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม 2 คน ได้แก่ อาจารย์อนุชา ประทุมมา และ อาจารย์จตุพร พันตรี ในปี พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2562 ตามลำดับ
2. โครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่เซิร์น
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการจวบจนถึงปัจจุบัน มีครูและนักเรียนของโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ จำนวนรวม 33 คน แบ่งเป็น ครู 4 คน และ นักเรียน 29 คน
ข้อมูลอ้างอิง
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (https://www.princess-it.org)
โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น (https://www.slri.or.th)