โครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลที่หนึ่ง และรางวัลชมเชย พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2022 จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 ซึ่งประกาศผลการแข่งขัน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565
การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition) เป็นโครงการที่สนับสนุนให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ตลอดจนผลักดันให้ผลงานเยาวชนไทยเป็นประจักษ์ในเวทีโลก โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 9 สาขา ประกอบด้วย สาขาคณิตศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ สาขาเคมี สาขาชีววิทยา สาขาฟิสิกส์ พลังงานและดาราศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และสหสาขา
สำหรับการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์รอบชิงชนะเลิศในปีนี้ จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Young Scientist Competition: Virtual YSC 2022) โดยมีนักเรียน 164 จาก 36 โรงเรียน มาร่วมนำเสนอ 67 โครงงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกจากระดับภูมิภาค ที่มีนักเรียนทั่วประเทศร่วมส่งข้อเสนอถึง 1,269 โครงงาน และเมื่อประกาศผลรางวัลแล้ว ปรากฏว่ามีโครงงานของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับรางวัล ดังนี้
รางวัลที่ 1 สาขาวัสดุศาสตร์ และรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกียรติบัตร พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2022 ได้แก่
- โครงงานเรื่อง “การพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา” ผลงานของ นายพีรทัตต์ ลาภณรงค์ชัย นักเรียนชั้น ม.5/4 และ นายธนพัฒน์ รีชีวะ นักเรียนชั้น ม.5/1 โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี และ ดร.ธิติกร บุญคุ้ม นักวิจัย ณ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษา
รางวัลที่ 1 สาขาสหสาขา และรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกียรติบัตร พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2022 ได้แก่
- โครงงานเรื่อง “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” ผลงานของ นายภาวิต แก้วนุรัชดาสร นักเรียนชั้น ม.6/8 นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นักเรียนชั้น ม.6/4 และ นายวุฒิพงศ์ จงเจริญสันติ นักเรียนชั้น ม.6/6 โดยมี ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง ครูสาขาวิชาเคมี และ นายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี เป็นที่ปรึกษา
รางวัลที่ 1 สาขาเคมี และได้รับสิทธิเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2022 ได้แก่
- โครงงานเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม” ผลงานของ นายกุลพัชร ชนานำ นักเรียนชั้น ม.5/5 นายคุณัชญ์ คงทอง นักเรียนชั้น ม.5/5 และ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม นักเรียนชั้น ม.5/5 โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ นักวิจัย ณ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษา
รางวัลที่ 1 สาขาเคมี ได้แก่
- โครงงานเรื่อง “การพัฒนาชุดทดสอบสารโคตินินในปัสสาวะเพื่อตรวจวัดการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง” ผลงานของ นางสาวปิยนุช อนันตกิจโสภณ นักเรียนชั้น ม.5/8 นางสาวปาณิศา เอื้อพันธุ์พงศ์ นักเรียนชั้น ม.5/8 นางสาวชนิตสิรี อนุมานไพศาล นักเรียนชั้น ม.5/8 โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี และ ดร.ยุวดี บุญญสิทธิ์ อาจารย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษา
รางวัลที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้แก่
- โครงงานเรื่อง “การพัฒนาชุดทดสอบความไวสูงแบบ multiple detection สำหรับไอออนของโลหะหนักโดยใช้สารปริมาณน้อยเพื่อการทดสอบภาคสนามในการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อม” ผลงานของ นางสาวพรรษนันท์ ทุ่งปรือนักเรียนชั้น ม.5/7 นางสาวเบญญาภา อติชาติภัสสร นักเรียนชั้น ม.5/9 และ นางสาวลลิตภัทร ณ อุบล นักเรียนชั้น ม.5/10 โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี และ รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา อภิลักษณ์ อาจารย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษา
รางวัลชมเชย สาขาชีววิทยา ได้แก่
- โครงงานเรื่อง “การพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อใช้ในการระบุชนิดของปลาทะเล” ผลงานของ นายกฤตย์ กิตติชัยดํารง นักเรียนชั้น ม.5/9 นายพันธวัสส์ จิระเกียรติกุล นักเรียนชั้น ม.5/9 และ นายปวริศ ดาวฉาย นักเรียนชั้น ม.5/9 โดยมี ดร.ชลกรานต์ อวยจินดา ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นครูที่ปรึกษา
รางวัลชมเชย สาขาสหสาขา ได้แก่
- โครงงานเรื่อง “การทำนายและคัดเลือกเปปไทด์ต้านมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาและการลดการสร้างเมลานินจากข้อมูลเปปทิโดมของ Cannabis sativa ด้วยเทคนิคทางชีวสารสนเทศ” ผลงานของ นายสุทธิธาร สุวรรณนพคุณ นักเรียนชั้น ม.5/5 นางสาวจุฑามาศ รัตนพงษ์วณิช นักเรียนชั้น ม.5/5 และ นางสาวปรีชญา นราประเสริฐกุล นักเรียนชั้น ม.5/5 โดยมี อาจารย์ทิพนาถ น้อยแก้ว ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นครูที่ปรึกษา