นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติในงาน The 9th Online Fully Residential Schools International Symposium (FRSIS 2021) จัดโดย Sekolah Seri Puteru สหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ในรูปแบบออนไลน์
Fully Residential Schools International Symposium เป็นเวทีการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ จัดโดย The Fully Residential Schools Management Division, Ministry of Education of Malaysia ร่วมกับ The National Commission for UNESCO Malaysia มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะด้านการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก (Global Issue) ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยหล่อหลอมให้เยาวชน ผู้ที่ในอนาคตจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับโลก (World Class Leaders) ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้
การแข่งขันจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Covid-19 Pandemic: Gains and Losses” โดยมีการแบ่งแนวคิดย่อยอีก 6 หัวข้อ อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้แก่
- Track 1: Covid-19: a paradigm shift in teaching and learning (SDG4-EDUCATION)
- Track 2: Global economic consequences of the COVID-19 pandemic (SDG8-ECONOMY)
- Track 3: Covid-19: the rise of digital revolution (SDG9-TECHNOLOGY/STEM)
- Track 4: Healthcare innovations and mental health anxiety management during the pandemic (SDG3-HEALTHCARE)
- Track 5: Climate crisis and change during the pandemic: the promise of a better tomorrow (SDG13-ENVIRONMENT)
- Track 6: Social impacts of COVID-19 on a nation’s well-being (SDG11-COMMUNITY/SOCIAL ISSUES)
ภายในงานมีกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วย
- การแข่งขันโครงงานภาคบรรยาย
เป็นการแข่งขันในรูปแบบ Parallel Sessions กล่าวคือ แข่งขันพร้อมกัน วันละ 3 หัวข้อ รวม 2 วัน โดยช่วงเวลาการนำเสนอของแต่ละกลุ่มนั้น จะมีการเปิดคลิปวิดีโอการนำเสนอโครงงาน จากนั้น กรรมการตัดสินโครงงานซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจะซักถามข้อสงสัยในช่วง Q&A หากผู้เข้าร่วมงานมีข้อสงสัย สามารถส่งคำถามมาได้เช่นกัน ผู้ดำเนินกิจกรรมจะดำเนินการสอบถามให้
- กิจกรรม Cultural Performance
แต่ละโรงเรียนจะนำเสนอกิจกรรมด้านวัฒนธรรมของโรงเรียนหรือศิลปวัฒนธรรมประจำชาติผ่านคลิปวิดีโอ
- กิจกรรม Online Quiz
คลิปนำเสนอโครงงานพร้อมด้วยคำถามเกี่ยวกับโครงงานของทุกทีมจะถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ ผู้ร่วมงานสามารถส่งคำตอบร่วมสนุกได้ โดยผู้ที่สามารถตอบคำถามได้คะแนนเกิน 80% จะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วมกิจกรรมนี้
การแข่งขันนี้ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน จาก 80 โรงเรียน ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐตุรกี และประเทศไทย ส่งโครงงานเข้าแข่งขัน จำนวน 91 โครงงาน โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้คัดเลือกผู้แทนนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันปีนี้เป็นปีแรก ซึ่ง นายธนกร จันทรุมาศ นักเรียนชั้น ม.6/2 นายเดชาวัต เชวงมหาปีติ นักเรียนชั้น ม.6/9 และ นายวชิรวิทย์ โพธิ์สุวรรณ นักเรียนชั้น ม.6/9 เจ้าของผลงานสาขาชีววิทยาเรื่อง “COVID-19 patients severity analyzer” มี อาจารย์ธัญญรัตน์ ดำเกาะ ครูสาขาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลเหรียญเงิน (Silver Award)
โศลดา รชตะพฤกษา (ข้อมูล/ภาพ)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (กราฟิก)