โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดพิธีเชิญธงชาติไทยและร้องเพลงชาติไทย ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564 ณ สนามหน้าเสาธง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมีคณะผู้บริหารและผู้แทนบุคลากรเข้าร่วมพิธีดังกล่าว
“ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์” เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ เพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยให้ยั่งยืน
ย้อนกลับไปยังสมัยอยุธยา เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้นำธงมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของสยามในขณะนั้น และได้มีวิวัฒนาการของธงชาติไทยเรื่อยมา ดังนี้
- ธงสีแดง (พ.ศ. 2199 – 2325) เริ่มใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงเรือสินค้าของไทย
- ธงสีแดง มีรูปจักรสีขาวบนธงสีแดง (พ.ศ. 2325 – 2352) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงและเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึงทรงให้เพิ่มรูปจักรสีขาว อันเป็นเครื่องหมายของราชวงศ์จักรีลงบนธงสีแดง สำหรับเรือหลวง ขณะที่เรือราษฎรใช้ธงสีแดงเช่นเดิม
- ธงสีแดง มีรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาว (พ.ศ. 2352 – 2394) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเพิ่มรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาวเพื่อใช้สำหรับเรือหลวง เนื่องจากประเทศไทยได้ช้างเผือก 3 เชือก ซึ่งตามประเพณีถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง ส่วนเรือราษฎรยังคงใช้ธงสีแดง
- ธงสีแดง มีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง (พ.ศ. 2394 – 2459) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้กันนั้นซ้ำกับประเทศอื่น สังเกตได้ยาก ควรใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ จึงโปรดให้เอารูปจักรออก เนื่องจากเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน และในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับธงอยู่หลายฉบับ โดยฉบับสุดท้าย คือในปี พ.ศ. 2553 ได้ตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 กำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง
- ธงสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น (พ.ศ. 2459 – 2460) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่า หากมองระยะไกล ธงของเดิมไม่ต่างจากธงราชการ และรูปช้างกลางธงไม่สง่างามเพียงพอ จึงปรับแก้ไขเพิ่มเติม
- ธงสีแดงสลับสีขาวห้าริ้ว (พ.ศ. 2460) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ธงช้างต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ และบางครั้งเกิดการติดธงผิดด้าน จึงปรับให้เป็นสีแดงสลับสีขาวห้าริ้ว
- ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 – ปัจจุบัน) เนื่องจากในสมัยนั้นไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศสัมพันธมิตร ซี่งส่วนใหญ่ธงจะมีสามสี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงทดลองวาดภาพธงสามสีลงในบันทึก และเห็นว่างดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้อยู่ พระองค์เรียกธงนี้ว่า “ธงไตรรงค์” และกำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า
สีแดง หมายถึง ชาติ คือประชาชน
สีขาว หมายถึง ศาสนา (มิได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ)
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ กำหนดให้มีการชัก และประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว เพื่อสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา
ข้อมูลอ้างอิง
พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. 2563. “ความเป็นมาของธงชาติไทย”. [ระบบออนไลน์]. จาก https://parliamentmuseum.go.th/ar63-Thai-Flag.html
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2560. “กำเนิดธงชาติไทย” [ระบบออนไลน์]. จาก https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=3606