นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมนำเสนอการค้นคว้าทางวิชาการและแข่งขันผลงาน ในกิจกรรมวิชาการ Sri Aman Environmental and English Youth Leadership Online Summit 2021 ซึ่งจัดโดย Sri Aman Girls’ Secondary School สหพันธรัฐมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม พ.ศ. 2564
Sri Aman Environmental and English Youth Leadership Online Summit 2021 (SAEYLS 2021) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “YOUTH-The Root of Change” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต รวมทั้งเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้นำให้กับนักเรียนด้วย
Sri Aman Girls’ Secondary School ผู้จัดงาน ได้เชิญโรงเรียนต่าง ๆ ส่งนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำกัดโรงเรียนละ 1 ทีม ทีมละ 4 คน โดยทุกทีมนั้นจะต้องส่งสมาชิกในทีมเข้าร่วมทุกกิจกรรม ทั้งการนำเสนอการค้นคว้าทางวิชาการ และการแข่งขันผลงานต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย
- การแข่งขัน Short Skit เป็นการแข่งขันในรูปแบบของการแสดงละครสั้นโดยสมาชิกในทีม 1 คน (แสดงเป็นหลายตัวละครได้) บันทึกเป็นวิดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที ในหัวข้อ “To Resonate with Nature” เพื่อนำเสนอและตอบคำถามกรรมการในวันจัดงาน
- การแข่งขัน Eco-Model Building เป็นการสร้างแบบจำลองของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์จากวัสดุรีไซเคิล และให้สมาชิกในทีม 1 คนนำเสนอปัญหาและวิธีการอนุรักษ์ภายในเวลา 6 นาที
- Forum เป็นการนำเสนอการค้นคว้าใน 4 หัวข้อ คือ Youth Health and Wellness, Ecological Crises, The Environment of the Future และ Education: Then and Now ซึ่งสมาชิกในทีม 2 คน ต้องเลือกค้นคว้าคนละ 1 หัวข้อ เพื่อนำเสนอปัญหาและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาในวันจัดงาน
- การแสดง Eco-Band เป็นการแสดงดนตรีโดยใช้เครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล ประกอบกับเครื่องดนตรี 1 ชิ้น ซึ่งสมาชิกในทีมทั้ง 4 คน จะต้องแต่งเนื้อเพลงเพื่อแนะนำตัว และบันทึกการแสดง (เล่นดนตรีและร้องเพลง/rap/beatbox) เป็นวิดีโอความยาว 1-2 นาที
ในส่วนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้มีการคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวริศ จรัสปรีดาลาภ นักเรียนชั้น ม.6/3 นายกวีรภัทร์ ไชยไธสง นักเรียนชั้น ม.6/4 นายเขมจิรัฎฐ์ เฮงสวัสดิ์ นักเรียนชั้น ม.6/4 และ นายธนาทิตย์ ประดับไทย นักเรียนชั้น ม.6/6 เข้าร่วมงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
การแข่งขันนำเสนอผลงาน
- การแข่งขันละครสั้น (Short Skit) ในธีม “to resonate with nature” โดย นายวริศ จรัสปรีดาลาภ บทละครได้กล่าวถึงการอนุรักษ์นกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย โดยเนื้อเรื่องเป็นการสนทนาระหว่างเพื่อนสองคนที่มีนิสัยแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ต้องมาทำโครงงานร่วมกัน และได้เลือกนกแต้วแร้วท้องดำเป็นหัวข้อของโครงงาน จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูลจากการสอบถามอาจารย์เพิ่มเติม สำหรับการแข่งขันละครสั้นนี้ มี อาจารย์ปภากร วงศ์ศิลปกุล หัวหน้าสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน และด้วยผลงานอันยอดเยี่ยม ทำให้ นายวริศ จรัสปรีดาลาภ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 (Short Skit 2nd Runner Up)
- การแข่งขันสร้างโมเดลสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ (Eco-model) โดย นายกวีรภัทร์ ไชยไธสง ซึ่งสร้างสรรค์โมเดลนกแต้วแร้วท้องดำ (gurney’s pitta) จากวัสดุเหลือใช้และวัสดุรีไซเคิล มี อาจารย์มานนท์ ผสมสัตย์ ครูสาขาวิชาศิลปศาสตร์ ให้คำปรึกษา
การนำเสนอการค้นคว้าทางวิชาการ (Forum) มีนักเรียนเข้าร่วมนำเสนอ 2 หัวข้อ ได้แก่
- Forum : Youth Health and Wellness
นำเสนอในหัวข้อ “PM2.5 How much we breathe in & How it impacts our life” โดย นายเขมจิรัฎฐ์ เฮงสวัสดิ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ PM2.5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- Forum : Ecological Crises
นำเสนอในหัวข้อ “The Dishes of Extinction” โดย นายธนาทิตย์ ประดับไทย เกี่ยวกับผลกระทบของสัตว์ทะเล เช่น ฉลาม บลูฟินทูน่า และแซลมอน ที่ถูกล่าเพื่อนำมาทำอาหาร
ทั้งนี้ การนำเสนอทั้ง 2 หัวข้อ รองศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน
- การแสดงดนตรี Eco-Band นักเรียนทั้งหมดได้แต่งเพลง ร้องและแรป และเล่นดนตรีโดยใช้วัสดุรีไซเคิล ร่วมกัน โดยมี นายกวีรภัทร์ ไชยไธสง เป็นผู้นำวง และ อาจารย์ชัยนันท์ วันอินทร์ ครูสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา
ธนภัทร สินธวาชีวะ (ภาพ/ข้อมูล)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (กราฟิก/เรียบเรียง)