คณะครูและนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและวัฒนธรรมผ่านโครงการแลกเปลี่ยนออนไลน์ร่วมกับคณะครูและนักเรียนจาก Ritsumeikan High School ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม พ.ศ. 2564
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 10 คน ประกอบด้วย นางสาวจุฑามาศ รัตนพงษ์วณิช นักเรียนชั้น ม.5/5 นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม นักเรียนชั้น ม.5/5 นางสาวปรีชญา นราประเสริฐกุล นักเรียนชั้น ม.5/5 นายชญานันท์ เจริญสูงเนิน นักเรียนชั้น ม.5/6 นางสาวกมลภัทร กาญจนธนเศรษฐ นักเรียนชั้น ม.5/7 นางสาวนภัส ธรรมกิจจาธร นักเรียนชั้น ม.5/9 นางสาวเปมิกา ลีไตรรงค์ นักเรียนชั้น ม.6/5 นางสาวยศสินี พรหมทา นักเรียนชั้น ม.6/7 นางสาวปวรา วิสุทธิรัตนมณี นักเรียนชั้น ม.6/8 และ นายโมกข์ วรรธนะโสภณ นักเรียนชั้น ม.6/9 เข้าร่วมกิจกรรม โดยมี นางสาวสิรยาภรณ์ ผาลาวรรณ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยบริการ เป็นครูผู้ดูแลนักเรียน
ตลอดช่วงเวลา 4 วันของการจัดกิจกรรม นอกจากนักเรียนทั้งสองโรงเรียนจะได้ทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการในสาขาวิชาฟิสิกส์ เรื่องการหักเหของแสง โดย อาจารย์ชาคริต สมานรักษ์ และอาจารย์จตุพร พันตรี ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ขณะเดียวกันครูของ Ritsumeikan High School โดย Mr. Koichiro Hiromatsu จากสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบการทับซ้อนของวงกลม ให้นักเรียนทุกคนได้ร่วมสนุกกัน
สำหรับกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมนั้น เนื่องด้วยประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างมีวัฒนธรรมเฉพาะตน นักเรียนทั้งสองโรงเรียนจึงได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในหลายรูปแบบ ประกอบด้วย
- การเรียนรู้ทางภาษา โดยนักเรียนได้สอนคำศัพท์และประโยคสนทนาที่พบได้ในชีวิตประจำวันในภาษาของตนเองให้เพื่อน ๆ ได้ทดลองสนทนาระหว่างกัน
- การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้นำชมสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตน อาทิ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และ หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ฯลฯ ขณะเดียวกัน นักเรียน Ritsumeikan High School ได้นำชมสถานที่สำคัญในเกียวโตด้วยเช่นกัน อาทิ วัด kinkakuji และ วัด kiyomizu
- การสอนทำอาหารไทย นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้แนะนำขนมไทยประเภทต่าง ๆ และสอนการทำทับทิมกรอบ
- การวาดพู่กันและสอนพับ Kirigami ตัดกระดาษเป็นลวดลายต่าง ๆ
นอกจากนี้ นักเรียนทั้งสองโรงเรียนยังได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “What can WE do to make the world a better place?” เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสังคมโลก และแลกเปลี่ยนมุมมองในการแก้ไขและพัฒนาในแนวทางต่าง ๆ ก่อนที่ทั้งหมด จะร่วมกันทำผลงานศิลปะเกี่ยวกับสถานที่ที่อยากไปเที่ยวร่วมกัน หากมีโอกาสได้พบกันในอนาคตผ่านโปรแกรม jamboard เพื่อสร้างความทรงจำดี ๆ จากกิจกรรมนี้ร่วมกัน
แม้ว่ากิจกรรมแลกเปลี่ยนออนไลน์จะทำให้นักเรียนไม่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ถึงต่างประเทศ แต่ทุกคนยังคงได้มีโอกาสวางแผนการทำงานและออกแบบกิจกรรม ได้กล้าสื่อสารและแสดงออกทั้งในแง่ของการเป็นพิธีกรดำเนินกิจกรรมและการแสดงความคิดเห็นร่วมกับเพื่อน ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้ ล้วนเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับนักเรียน
ธนภัทร สินธวาชีวะ (ภาพ/ข้อมูล)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (เรียบเรียง)