โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดงานวันเกียรติยศ ประจำปีการศึกษา 2563 ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เนื่องในโอกาสสำเร็จการศึกษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ หอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันที่คลี่คลายลง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครปฐมให้สามารถจัดงานวันเกียรติยศ ประจำปีการศึกษา 2563 ได้ ซึ่งในปีนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นองค์ปาฐก แสดงปาฐกพิเศษในหัวข้อ “Life’s Secrets” แบ่งปันประสบการณ์เคล็ด (ไม่) ลับของชีวิต ต้องทำอย่างไรถึงจะโชคดี ประสบความสำเร็จ และมีความสุข ซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
ชีวิต คือการสะสม และ การต่อจุด (collect and connect the dots)
จุด คือ ความรู้และประสบการณ์ที่มี เราไม่สามารถนำความรู้และประสบการณ์ในอนาคตมาสร้างคำตอบได้ ต้องนำจุดที่มีอยู่ในอดีตมาใช้เท่านั้น และจุดที่เรามีจะเชื่อมเป็นรูปได้ ขึ้นอยู่ว่าเรามีจุดเยอะแค่ไหน ชีวิตคือการสะสมจุด เราใช้ความรู้ (knowledge) เป็นจุด ถ้ามีประสบการณ์ (Experience) ก็สามารถเชื่อมจุดได้ และยิ่งถ้ามี Creativity จะสร้างสรรค์เป็นรูปได้ แต่ถ้าเราไม่จุด สุดท้ายชีวิตเราจะเป็นเส้นตรง หัวใจจริง ๆ ของการ collect และ connect dots คือ มีความอยากรู้อยากเห็น มีระเบียบวินัย และอดทน ขยัน
ความอยากรู้อยากเห็น
การที่เราจะสร้างสิ่งใดได้ จะต้องมีความอยากรู้อยากเห็น ถ้าเราเรียนรู้แค่ในตำรา เราจะไม่สามารถสร้างต้นแบบได้ อย่าคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ดีแล้ว ต้องคิดว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น เราอาจจะรู้ลึกในสาขาวิชาชีพ แต่ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตถ้าเราไม่รู้กว้างด้วย อย่างเช่น เรื่องความเท่าเทียมกัน สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ข้อมูลด้านลึกอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการตัดสินใจ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องอ่านหนังสือนอกเหนือจากตำราเรียน ต้องรู้สิ่งรอบตัว ต้องรู้ทั้งลึกและกว้าง สิ่งนั้นคือความอยากรู้อยากเห็น
ความมีระเบียบวินัย
ถ้าเรามีวินัย เราจะมีอิสระในการตามความฝันได้ แต่ถ้าไม่มีวินัย สุดท้ายจะตกเป็นทาสของความอยาก ระเบียบวินัยจะช่วยพัฒนาตนเองได้ ชีวิตของทุกคนมีโถแก้วใบหนึ่ง โถแก้วคือเวลา ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน หน้าที่ของเราคือเอาหิน เอากรวด เอาทรายใส่ลงไป หินคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต กรวดสำคัญรองลงมา และทรายคือสิ่งที่ไร้สาระ เวลาต้องบรรจุลงไป เราต้องชั่งใจว่าจะเอาหินตรงไหนใส่ อนาคตถ้าเราเอาทรายใส่เข้าไปก่อน ชีวิตก็จะไม่มีที่สำหรับหิน เพราะเราเอาเวลาไปใช้กับเรื่องไร้สาระก่อน ผมว่าคนที่ประสบความสำเร็จคือ คนที่เลือกหินได้ถูก และเอากรวด เอาทรายใส่ เพราะมีพื้นที่ให้แทรกได้ อยากให้แบ่งสิ่งสำคัญกับสิ่งไร้สาระให้ดี
ความพยายาม การมี Growth Mindset
พรสวรรค์ไม่สำคัญเท่ากับความพยายาม อย่าไปทะนงกับความฉลาดของตนเอง เราต้องปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอด เราเป็นผู้กำหนดชีวิต ให้เรียนรู้ว่าเราต้องการอะไร และค่อย ๆ เดินหน้าเรียนรู้ไป ชีวิตไม่มีโชคดี ชีวิตคือการเตรียมตัว ถ้าโอกาสมา และเตรียมตัวได้ คือโชคดี อนาคต collect dot สะสมจุดให้เยอะ ความโชคดี คือ สิ่งที่เราเตรียมตัวมาเจอกับโอกาส
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ชัชชาติ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ให้เก่งแค่ไหนถ้าสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ จะจำกัดทางเลือกในอนาคต และสิ่งที่มีค่ามากที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือเรื่อง ความไว้ใจ ถ้าคุณไม่ได้รับความไว้ใจ จะไปไม่รอด โดยจะต้องมี ลักษณะที่น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ (Character) ความสามารถ (Competency) และค่านิยมที่ไปด้วยกันได้ (Shared Values) อันนี้คือหัวใจของความไว้ใจ (Trust) รวมถึง การที่เราจะมีความสุขในอนาคตได้ จะต้องเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (Empathy) ให้มากขึ้น ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่ควรต้องคิดถึงและเข้าใจคนอื่นด้วย ถ้าเรามีความเข้าใจ (Empathy) เห็นอกเห็นใจ (Compassion) และ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (Kindness) ความสุขจึงจะเป็นความสุขที่ถาวร
หลังจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียน ประธานในพิธี ได้เกียรติมอบโล่เกียรติคุณรางวัลนักเรียนดีศรีมหิดล และประกาศนียบัตรรางวัลนักเรียนดีเด่นในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย รางวัลนักเรียนดีเด่นด้านผลการเรียนยอดเยี่ยม รางวัลนักเรียนดีเด่นด้านวิชาการประเภทผลการเรียนดีเด่น รางวัลนักเรียนดีเด่นด้านการเสียสละและทำคุณประโยชน์ให้แก่โรงเรียน รางวัลนักเรียนดีเด่นด้านวิชาการประเภทโอลิมปิกวิชาการ รางวัลนักเรียนดีเด่นด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ และ รางวัลนักเรียนดีเด่นด้านบำเพ็ญประโยชน์ และได้มอบประกาศนียบัตรแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563
หลังการมอบประกาศนียบัตรเสร็จสิ้น นักเรียนทั้งหมดได้กล่าวปฏิญาณตน และผู้อำนวยการได้มอบปัจฉิมโอวาท ใจความสำคัญสรุปได้ 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่หนึ่ง มิตรภาพ
เพื่อนสมัยมัธยมศึกษา คือหนึ่งในกลุ่มเพื่อนที่ดีที่สุด มิตรภาพเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ทุกคนรักษาไว้
ประเด็นที่สอง การเคารพในความแตกต่าง
การรับฟังผู้อื่นพูด บางครั้งเราใส่ตัวกรอง (Filter) อยู่ เรากรองสิ่งที่เราไม่อยากจะได้ยินหรือไม่ตรงกับความคิดเห็นของเราออกไป บางครั้งสิ่งของอยู่ตรงหน้า แต่เราโฟกัสหรือมองไม่เห็น (Inattentional Blindness) เราใส่ตัวกรองเข้าไปในสมองของเรา ทำให้เราได้ยินสิ่งที่เราอยากจะได้ยินเท่านั้น สิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดเรา เราจะไม่ได้ยิน เกิดสิ่งที่เรียกว่า confirmation bias เลือกฟังเฉพาะคนที่เราอยากฟัง แต่เราไม่ค่อยได้ยินเสียงคนที่แตกต่างจากเรา หากเรายอมรับความแตกต่างกับคนอื่นได้น้อยลง เราจะอยู่กันยากขึ้น จากนี้ เราจะเจอคนที่ต่างกับเราเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เราจะฟังเขาอย่างไรให้ได้ยิน และเข้าใจเขาให้ได้ เราต้องสร้าง ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เข้าใจเขาให้ได้ก่อน เราไม่ได้ฟัง เพื่อจะเถียง แต่เราฟังเพื่อที่จะเข้าใจ เราไม่ต้องบอกว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขา แต่เรายอมรับความเห็นของเขา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในการอยู่ร่วมกัน
ประเด็นที่สาม การสร้างประโยชน์เพื่อสังคม
เราจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มหนึ่งของสังคมให้ได้ เราได้รับโอกาสมากมายในการพัฒนาศักยภาพ ไม่ว่าจะไปอยู่อาชีพอะไร เราจะต้องเป็นกลุ่มหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นจากวันนี้ เข็มมหิดลวิทยานุสรณ์ที่รับไปเมื่อสามปีที่แล้ว และที่อยู่บนปกประกาศนียบัตรของทุกคน รวมถึงคำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ให้เห็นประโยชน์ของสังคมมากกว่าประโยชน์ของตนเอง อยากฝากว่า ให้เป็นคำสอนที่ยึดมั่นตลอดไป
สุดท้าย ผู้อำนวยการโรงเรียนได้แสดงความเชื่อมั่นว่า “นักเรียนทุกคนมีความสามารถที่จะไปให้ถึงฝัน อย่าลังเลที่จะเดินไปสู่ความฝันของตนเอง และขอให้ทุกคนได้ดังฝัน” ก่อนที่ นักเรียนทั้งหมดจะร่วมร้องเพลงมาร์ชมหิดลวิทยานุสรณ์ ปิดท้ายงานวันเกียรติยศ
ปริญญา เพ็ชรวารี (ภาพ)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (สรุป)