โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ในการพัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการจัดการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมลงมือปฏิบัติ สามารถนำไปสู่เนื้อหาสาระที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ให้กับครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนในโครงการ ฯ
ในวันนี้ (11 มีนาคม พ.ศ. 2564) ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน (Peer Learning Network) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พร้อมด้วย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศาสตราจารยเกียรติคุณ ดร. ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการและพัฒนาคุณภาพ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และ รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ ร่วมแถลงข่าวและให้การสนับสนุน ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพฯ
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้กล่าวถึงการแถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับทุกหน่วยงานในวันนี้ว่า โครงการนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการผลักดันและขับเคลื่อนแนวนโยบายทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศให้พัฒนาและแข่งขันได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยน้อมนำหลักคิดของในหลวงรัชกาลที่ 10 จากพระปฐมบรมราชโองการ สืบสาน รักษา ต่อยอด จากองค์ความรู้และความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาขยายผลผ่านหลักสูตร และเครือข่ายสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน
สำหรับบทบาทของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จะนำประสบการณ์การทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย มากกว่า 400 โรงเรียน ใน 73 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่สั่งสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 มาร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดยเน้นสามประเด็นหลักคือ
- ประเด็นแรก การสนับสนุนโรงเรียนในรูปแบบ Demand Side Driven เปิดโอกาสให้โรงเรียนเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า ต้องการการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์หรือการอบรมในหัวข้อใด เพื่อตอบสนองความต้องการในบริบทที่แตกต่างกัน
- ประเด็นที่สอง การสร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกัน (Peer Learning Community) ภายในจังหวัด โดยสร้างศูนย์ขยายผลองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัด เพื่อเชื่อมครูในพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาในรูปแบบนี้จะมีความยั่งยืน เนื่องจากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น เป็นความรู้ของทุกคนในเครือข่าย ลดปัญหาที่เกิดจากการโยกย้ายหรือเกษียณอายุราชการ
- ประเด็นสุดท้าย เน้นการวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการจากผลการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่ใช่จำนวนครูหรือชั่วโมงที่รับการอบรม เพื่อให้แน่ใจว่าความรู้ที่ได้จากการอบรมหรือวัสดุอุปกรณ์ที่สนับสนุนนั้น ส่งต่อไปยังนักเรียนอย่างแท้จริง
ปริญญา เพ็ชรวารี (ภาพ)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (สรุป)