สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณ วรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นองค์ประธานเปิดงานนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ Thailand International Science Fair 2021 (TISF2021) ในวันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Google Meet ณ วังสระปทุม
การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ Thailand International Science Fair 2021 (TISF2021) เป็นงานที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดปีเว้นปีเป็นประจำ เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งทางด้านวิชาการ สังคม และวัฒนธรรม แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ได้กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่และมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้นอีกครั้ง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม หนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมของการแพร่ระบาดโรคดังกล่าว จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน TISF2021 เป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ดำเนินการขอพระราชทานพระราชานุญาตปรับรูปแบบพิธีเปิดงาน Thailand International Science Fair 2021 จากเดิมทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นการเปิดงานในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Google Meet ซึ่งถ่ายทอดสดและสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในแบบเรียลไทม์กับนักเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้าร่วมพิธีเปิด และกราบบังคมทูลนำเสนอโครงงานทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์
กิจกรรมในพิธีเปิด ประกอบด้วย
- กิจกรรมบรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย เหมือนประสาท นักเรียนเก่าของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รุ่นที่ 7 ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการคิดค้นยารักษาโรคอหิวาตกโรค มีสิทธิบัตรทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ โดยได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Drug Discovery Research for Sustainable Development of Health Products” (การวิจัยค้นพบยาใหม่เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างยั่งยืน)
- การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในพิธีเปิด จำนวน 4 โครงงาน ประกอบด้วย
- โครงงานสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ เรื่อง “The study and development of an engineering model of picosatellite (CUBESAT) for testing in near space by using a high altitude balloon” โดย นายชิติพัทธ์ อู่วิเชียร นายธนกฤต สิริมงคลวัฒนา และ นายวัชรศักย์ พรหมณี จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี
- โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง “Improvement of gas adsorption efficiency of fragile porphyrin-based MOFs” โดย Mr. Seunguk Kang, Mr. Chanwoo Kang and Mr. Gyumin Seol จาก Korea Science Academy of KAIST สาธารณรัฐเกาหลี
- โครงงานสาขาวิชาชีววิทยา เรื่อง “Prediction and selection of anticancer peptide from Cordyceps militaris peptidome using bioinformatics” โดย นางสาวจริญญากร จันทวรรณกูร จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง “Development of polydiacetylene-based sensor for formaldehyde detection.” โดย Miss Pei Rong Toh Miss Evelyn Lai จาก National Junior College สาธารณรัฐสิงคโปร์ และ นายกฤษณ์ มณีเทศ นายภูวพัศ เทียมจรรยา นายจิรัฏฐ์ ภาณุเตชะ จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
จากนั้นในช่วงบ่าย ทรงทอดพระเนตรโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนภาคโปสเตอร์ จำนวน 20 โครงงาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Google Meet เช่นเดียวกัน
Thailand International Science Fair ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมีธีมงานว่า “Strengthening sustainability and resilient society through science and technology” (เสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วโลกได้นำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน โดยมีผู้ร่วมงานเข้าร่วมกิจกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 300 คน จาก 50 โรงเรียนทั่วโลก ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู และนักเรียน จาก โรงเรียนชั้นนำในต่างประเทศ 28 โรงเรียน จำนวน 124 คน โรงเรียนในประเทศไทย 21 โรงเรียน จำนวน 73 คน จาก และนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อีก 240 คน
กิจกรรมภายในงานมีการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมากถึง 140 โครงงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนของผู้บริหารและครู กิจกรรมสันทนาการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และฝึกฝนทักษะการทำงานร่วมกัน กิจกรรมศึกษาดูงาน ด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่านการศึกษาดูงานเสมือนจริง (Virtual Excursion) ณ มิวเซียมสยาม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม การแสดงศิลปวัฒนธรรมของนักเรียนจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงาน
การจัดงานนี้ เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีความสนใจในการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จากโรงเรียนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้นำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ เปิดโอกาสให้นักเรียนทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ขณะเดียวกันผู้บริหารและครู จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนและองค์ความรู้ด้านการศึกษาด้วยเช่นกัน อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับความรู้และการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่าย มิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันด้วย