ปิดฉากไปอย่างสวยงาม กับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์นานาชาติ International Students Science Fair 2025 ซึ่งปีนี้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับเกียรติจากภาคีเครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำ International Science Schools Network (ISSN) ให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานระหว่างวันที่ 26-31 มกราคม พ.ศ. 2568
งานนี้ถือว่าเป็นงานสำคัญของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่ทุกฝ่ายต่างเตรียมการล่วงหน้ามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้การจัดงาน International Students Science Fair (ISSF) ครั้งที่ 20 ประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของ ISSF (20th Anniversary of ISSF) เท่านั้น งานนี้ยังเป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ครูและนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้แสดงศักยภาพในการวางแผนและการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมงาน จาก 43 โรงเรียนทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 26-31 มกราคม พ.ศ. 2568 รวม 219 คน ภายใต้ธีม “The 20th Chapter: Exploring a Visionary Future in Sustainability, Humanity, and Technology”
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์การทำวิจัยระหว่างกัน เกิดการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดี ที่จะต่อยอดไปสู่การทำงานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในอนาคต โดยกิจกรรมที่จัดขึ้น มีดังนี้
พิธีเปิดงานจัดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ทรงเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์นานาชาติ International Students Science Fair (ISSF 2025) โดยมี ผู้บริหารหน่วยงานราชการ แขกผู้มีเกียรติ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ของโรงเรียนที่เข้าร่วมงานและโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เฝ้าฯ รับเสด็จ และร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมในพิธีเปิด ประกอบด้วย
1. การพระราชทานรางวัล “The ISSN Principal Lifetime Award” ให้แก่ผู้อํานวยการโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มและสนับสนุนการจัดงาน International Student Science Fair (ISSF) รวมถึงอุทิศตนเพื่อเครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์นานาชาติ (ISSN) และการศึกษาวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งครั้งนี้มีผู้ได้รับรางวัล 2 ท่าน ได้แก่
- ดร.ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อํานวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และโรงเรียนกําเนิดวิทย์
- Assoc. Prof. Hiroshi Tanaka อดีตผู้อํานวยการ Ritsumeikan Junior and Senior High School
ทั้งสองท่านเป็นผู้อุทิศตนในการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนนานาชาติ ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับนานาชาติ (Sci-Math International MoU) ความเป็นผู้นำและผลงานที่โดดเด่นของทั้งสองท่าน สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของรางวัล The ISSN Principal Lifetime Award ได้อย่างชัดเจน
2. การพระราชทานพระราชดำรัสในพิธีเปิดงาน International Students Science Fair 2025
3. การทอดพระเนตรวิดีทัศน์ 3 รายการ ได้แก่
- นิทรรศการเทิดพระเกียรติ ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
- การแนะนําโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เครือข่ายความร่วมมือ International Science Schools Network (ISSN) และการประชุมวิชาการ The 20th International Students Science Fair 2025 (ISSF 2025)
- ผลงานวิชาการและผลงานศิลปะ Art of Science Innovation Projects
4. การบรรยายพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน
- หัวข้อ “The Future Society Engendered by Lithium Ion Battery” โดย ศาสตราจารย์ ดร.อากิระ โยชิโนะ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมีปี ค.ศ. 2019 (Prof. Akira Yoshino, Nobel Laureate in Chemistry 2019)
- หัวข้อ “JUNO neutrino Experiment” ของ ศาสตราจารย์อี้ฟาง หวัง ผู้อํานวยการสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Prof. Yifang Wang, Director of the Institute of High Energy Physics Chinese Academy of Sciences)
5. การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เรื่อง “แนวคิดใหม่ในการออกแบบยาเปบไทด์ตัวใหม่สําหรับการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าจากลําดับกรดอะมิโนที่กําหนดความจําเพาะของแอนติบอดี้ต่อแอนติเจน (The Breakthrough Idea in Designing a Novel Peptide Drug for Cancer from Specific Amino Acid Sequences that determine the Specificity of Antibody and Antigen)” นําเสนอโดย นายพีรดนย์ แซ่จึง นายชัยดิฐ ลิ่มกาญจนาโชติ และ นางสาววาราดา จงจิระวงศา
6. การแสดงของ The 1st MWIT Symphony Orchestra ในบทเพลง “คีตกาลแห่งศรีตรัง” และบทเพลง “ยามเย็น”
หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้นลง ได้มีการลงนามความร่วมมือ ISSN Joint Statement Signing Ceremony ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในเครือข่าย International Science Schools Network (ISSN) จำนวน 26 โรงเรียน จาก 17 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วย
- Australian Science and Mathematics School เครือรัฐออสเตรเลีย
- Brookhouse School สาธารณรัฐเคนยา
- Budi Mulia Dua International High School สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
- Camborne Science & International Academy สหราชอาณาจักร
- Experimental School of Beihang University สาธารณรัฐประชาชนจีน
- Fort Richmond Collegiate ประเทศแคนาดา
- Illinois Mathematics and Science Academy สหรัฐอเมริกา
- Institute of Science Tokyo High School ประเทศญี่ปุ่น
- John Monash Science School เครือรัฐออสเตรเลีย
- Kherad High School สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
- Korea Science Academy of KAIST สาธารณรัฐเกาหลี
- Lewiston-Porter สหรัฐอเมริกา
- Moscow South-Eastern School named after V.I. Chuikov สหพันธรัฐรัสเซีย
- National Junior College สาธารณรัฐสิงคโปร์
- New Beginning International School of Mongolia ประเทศมองโกเลีย
- New Generation School Preah Sisowath High School ราชอาณาจักรกัมพูชา
- NUS High School of Mathematics and Science สาธารณรัฐสิงคโปร์
- Philippine Science High School Main Campus สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
- Queensland Academy for Science Mathematics and Technology เครือรัฐออสเตรเลีย
- Ritsumeikan High School ประเทศญี่ปุ่น
- School of Science and Technology Singapore สาธารณรัฐสิงคโปร์
- St-Odulphuslyceum ประเทศเนเธอร์แลนด์
- West Aurora High School สหรัฐอเมริกา
- โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ประเทศไทย
- โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประเทศไทย
- โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ประเทศไทย
หลังจากที่ผู้บริหารทุกแห่งได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Mr.Peter Corkill ผู้อำนวยการ John Monash Science School เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งดำรงตำแหน่ง Chair of International Science Schools Network (ISSN) มาตั้งแต่การจัดงาน ISSF 2014 ได้ประกาศมติจากการประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ ที่เห็นชอบให้ ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน หลังการจัดงาน ISSF 2025 เสร็จสิ้น
นอกจากนักเรียนจะได้นำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัยร่วมกับผู้ร่วมงานแล้ว นักเรียนยังได้จัดแสดงผลงานศิลปะ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบของภาพวาดดิจิทัล (Digital Painting) หรือการใช้เทคนิคการวาดภาพที่ตนถนัด เช่น ภาพสีน้ำมัน สีอะคริลิก สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีย้อมไม้ ฯลฯ โดยได้มีการตัดสินผลงานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง รางวัลเหรียญเงิน และรางวัลเหรียญทองแดง จากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ประกอบด้วย
- อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2560
- รองศาสตราจารย์ วราวุฒิ โตอุรวงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- อาจารย์ธีร์พาทิศ บุญวิจิตรนิธิธร หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทั้งนี้ ได้นำเรื่องความเชื่อมโยงกับโครงงานวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นต้นฉบับ เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ ความสวยงามและการจัดองค์ประกอบ และแนวความคิด มาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินรางวัล
ผู้บริหาร ครู และนักเรียนที่เข้าร่วมงาน ได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกัน ณ บริเวณด้านหน้าอาคารหอประชุมมหิดลสิทธาคาร
ในช่วงเย็นวันแรกของการจัดงาน ได้มีการจัดงานเลี้ยง ณ สนามหน้าเสาธงของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ผู้เข้าร่วมงานต่างเพลิดเพลินไปกับอาหารเลิศรส พร้อมกับรับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยอันอ่อนช้อยและงดงาม อย่างการรำไทยและการแสดงโขน รวมไปถึงการบรรเลงดนตรีไทยและดนตรีสากล ที่ทั้งหมดนี้แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
การนำเสนอโครงงานภาคบรรยายได้แบ่งออกเป็น 6 ธีมหลัก ดังนี้
- Engineer & Technology ณ ห้องประชุม ศ.เกียรติคุณ นพ.ดร.ณัฐ ภมรประวัติ
- Health & Medicine ณ ห้องประชุม ดร.โกวิท วรพิพัฒน์
- Mathematics & Computer Science ณ ห้องฉายภาพยนตร์สามมิติ
- Physical & Life Science 1 (Biology) ณ ห้อง 1107
- Physical & Life Science 2 (Chemistry) ณ ห้อง 1107
- Sustainability ณ ห้อง1106 และ ห้อง Co-working space 2
ในแต่ละห้อง นักเรียนจะได้รับคำแนะนำจากอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดแนวคิดและพัฒนาโครงงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้
นักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ตามความสนใจ จาก 5 กิจกรรม ได้แก่
- Workshop 1: “Collaborative Telerobotics: Remote Rescue Mobile Robot”
เรียนรู้และทดลองควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกลเพื่อใช้ในภารกิจให้ความช่วยเหลือ - Workshop 2: “Internet of Things: Smart Home Project”
เรียนรู้หลักการทำงานของอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และระบบบ้านอัจฉริยะ - Workshop 3 “Eco-Health Board Game Challenge”
เรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เรือนกระจกและโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ผ่านบอร์ดเกม - Workshop 4 “STEM Challenge”
ใช้แนวคิด STEM ในการแก้ปัญหาตามโจทย์ที่ได้รับ - Workshop 5 “SDGs Workshop”
ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
คณะผู้บริหารโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ในเครือข่าย International Science Schools Network (ISSN) ได้ประชุมแลกเปลี่ยนมุมมองและหารือถึงแนวทางการพัฒนาวงการการศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติร่วมกัน โอกาสนี้ ผู้บริหารของกลุ่มผู้ริเริ่มการจัดตั้งเครือข่าย (ISSN Executive Steering Committee) ได้ประชุมหารือถึงทิศทางการดำเนินงานของเครือข่ายด้วย
ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดทางการศึกษา พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งประกอบด้วย
1. การบรรยายพิเศษ ใน 2 หัวข้อ ได้แก่
- “Empowering Future Environmental Stewards: Engaging Plant Conservation Education with AI and Computational Thinking” บรรยายโดย รศ. ดร.พงศ์ประพันธ์ พงษ์โสภณ จาก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- “AI in Education (Advancing Educational Assessment Through Artificial Intelligence: Insights from Recent Research in Thai Education” บรรยายโดย ผศ. ดร.ธนพงศ์ อินทระ จาก สาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2. การนำเสนอผลงานการวิจัยของครู มีทั้งหมด 4 ผลงาน ได้แก่
- “Enhancing Student Success: The Role of Teacher Instructional Coaches and Interventionists in Supporting Academic Growth” นำเสนอโดย Ms.Sandy Scott จาก West Aurora High School สหรัฐอเมริกา
- “Advancing Nuclear Physics for Sustainable Development –Citizen Science Case Study of PCSHS-NST” นำเสนอโดย อาจารย์กนกรัตน์ สิงห์นุ้ย ครูวิชาฟิสิกส์ จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
- “Using Desmos to Enhance Maths Learning” นำเสนอโดย Mr.Tun Apiwattanakorn จาก Australian Science and Mathematics School เครือรัฐออสเตรเลีย
- “Enhancing Data Analysis Skills for Astronomy Olympiad Competitors through Team-Based Learning: A Case Study from Thailand” นำเสนอโดย ดร.ธัญนันท์ สมนาม ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
3. กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)
กิจกรรมจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “Design and Development of Multidimensional Assessments through Generative AI’s and Large Language Models” ที่เปิดโอกาสให้ครูได้ออกแบบและพัฒนารูปแบบการประเมินผลในหลายมิติ โดยใช้ Generative AI และ Large Language Models (LLMs)
กิจกรรมนี้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม ผ่านความท้าทายหลากหลายรูปแบบ โดยมีการจัดทีมแบบคละโรงเรียนและประเทศ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นกับเพื่อน ๆ จากนานาประเทศ
กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ สถาบันวิจัยและหน่วยงานที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยสามารถเลือกหน่วยงานที่ตนเองสนใจได้จากทั้งหมด 6 แห่ง ดังนี้
- สถาบันวิทยาการหุ่นยนตร์ภาคสนาม (FIBO)
- แหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสาน Aromatic Farm
- บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร
- สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD)
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- สถาบันอาหาร (National Food Institute)
ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสและเรียนรู้ความงดงามของวัฒนธรรมไทย ผ่านสถาปัตยกรรมอันวิจิตรตระการตาที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในอดีต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้แวะเลือกซื้อของที่ระลึก ณ ไอคอนสยาม ด้วย
ในค่ำคืนสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมงานเลี้ยงอำลา บริเวณสนามหน้าเสาธงของโรงเรียน ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง เพลิดเพลินไปกับอาหารไทยคาว-หวานนานาชนิด ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียนรุ่นที่ 32, 33 และ 34 โดยถูกจัดเตรียมไว้อย่างพิถีพิถัน ซึ่งไม่เพียงแต่เติมเต็มความอิ่มอร่อย แต่ยังเปิดโอกาสให้แขกจากนานาประเทศได้ทำความรู้จักอาหารไทย และเสน่ห์ของวัฒนธรรมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้ ภายในงานยังม การแสดงทางวัฒนธรรมจากผู้เข้าร่วมงานจากแต่ละประเทศ ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นแสดง สร้างสีสันและความประทับใจให้กับทุกคน บรรยากาศของค่ำคืนนี้ จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มิตรภาพ และความทรงจำดี ๆ ที่จะคงอยู่ในใจของทุกคน
ในช่วงพิธีปิดของงาน International Students Science Fair 2025 ได้มีกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
1. การแสดงดนตรีและการเต้นร่วมสมัย (Contemporary Music and Dance) ในเพลง “เธอหนอเธอ” ของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งผสมผสานการบรรเลงดนตรีไทยและดนตรีสากล การขับร้อง และการเต้นประกอบเพลงได้อย่างงดงาม และสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม
2. พิธีมอบรางวัลใน 3 ประเภท ได้แก่
2.1 รางวัลผู้ออกแบบโลโก้การจัดงาน
2.2 รางวัลการนำเสนอโครงงาน ซึ่งแบ่งเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย
- Spark of Inspiration Award จำนวน 7 รางวัล
- Environmental Impact Award จำนวน 13 รางวัล
- The Next Generation Excellence Award จำนวน 8 รางวัล
- Innovative Project Award จำนวน 10 รางวัล
- Outstanding Project Award จำนวน 9 รางวัล
- Breakthrough Pioneer Award จำนวน 4 รางวัล
2.3 รางวัลผลงานศิลปะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
- รางวัลเหรียญทอง จำนวน 6 รางวัล
- รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 6 รางวัล
- รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 9 รางวัล
- รางวัล Popular Vote จำนวน 1 รางวัล
3. การกล่าวความรู้สึกและความประทับใจจากตัวแทนนักเรียน
4. การรับชมวิดีทัศน์ประมวลภาพกิจกรรมและความประทับใจ
5. พิธีส่งมอบโล่เจ้าภาพการจัดงานให้กับ Australian Science and Mathematics School เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งถัดไป โอกาสนี้ Mrs. Kylie Eggers ผู้อำนวยการโรงเรียน และ Dr. Matthew Verdon รองผู้อำนวยการโรงเรียน ของ Australian Science and Mathematics School ได้กล่าวแนะนำโรงเรียน พร้อมรับมอบโล่เจ้าภาพการจัดงาน
6. การกล่าวปิดงาน โดย ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นประธานการจัดงานในครั้งนี้
ความสำเร็จของการจัดงาน International Students Science Fair 2025 ถือเป็นผลลัพธ์ของความร่วมแรงร่วมใจของชาวมหิดลวิทยานุสรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหาร บุคลากร นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ร่วมกันทุ่มเททั้ง ความสามารถ แรงกาย และแรงใจ เพื่อให้งานในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และสร้างความประทับใจให้แก่แขกผู้มาเยือนจากทั่วโลก
ความตั้งใจและความร่วมมือร่วมใจในการจัดงาน ส่งผลให้เมื่อพิธีปิดสิ้นสุดลง ทุกคนภายในงานต่างลุกขึ้นปรบมือชื่นชม ดังกึกก้องไปทั่วหอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ แสดงสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการจัดงานให้เห็นเป็นประจักษ์
ข้อมูลการจัดงานเพิ่มเติม https://issf2025.mwit.ac.th และ https://www.facebook.com/issf2025
ศูนย์พัฒนาสื่อดิจิทัล (สรุป/ภาพ)