โอกาส… ไม่ได้มาง่าย ๆ แต่เมื่อผ่านมาแล้ว หลายคนเลือกที่จะเอื้อมมือคว้าไว้
โอกาส… ที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มอบให้กับคุณครู ได้พัฒนาตนเองเช่นเดียวกับนักเรียน
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในต่างประเทศทั่วโลก เปิดโอกาสให้คุณครูได้แสดงศักยภาพและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน และการนำเสนอผลงานทางวิชาการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โครงการแลกเปลี่ยนครูวิชาการกับ Korea Science Academy of KAIST สาธารณรัฐเกาหลี
วันนี้เราจะร่วมพูดคุยกับ “ดร. ธนัชกฤศ แก้วเต็ม” ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ ที่ได้คว้าโอกาสที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มอบให้ ในฐานะครูแลกเปลี่ยนวิชาการ สอนวิชา Mathematics 2 และ Creative Basic Research ณ Korea Science Academy of KAIST (KSA) โรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของสาธารณรัฐเกาหลี เป็นเวลา 3 เดือน
ก้าวออกจาก Comfort Zone ลองสิ่งใหม่ ๆ
ดร.ธนัชกฤศ แก้วเต็ม หรือ “อาจารย์ใหม่” ได้เปิดเผยถึงเหตุผลการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ว่า
“จากที่เคยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนที่ KSA ตอนนั้นประทับใจมาก ทั้งการต้อนรับและการดูแล รวมถึงกิจกรรมที่เขาจัด เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากไปอีก แล้วอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือ อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง ก้าวออกจาก Comfort Zone ที่เราเคยสอน เราใช้ภาษาไทยสอนตลอด ภาษาอังกฤษที่ไปเรียนก็แทบจะไม่ได้ใช้ ก็ลืม ๆ ไปบ้างแล้ว และอยากไปรู้ว่าที่โรงเรียนที่เขามีชื่อเสียงเนี่ย เขาสอนหรือว่าเขาดูแลเด็กยังไง ก็เลยตัดสินใจลองสมัครดูรอบนี้”
คณะผู้บริหาร Korea Science Academy of KAIST ให้การต้อนรับ
ปรับตัว… ปรับสไตล์การสอน
นอกจากการปรับตัวเรื่องอากาศที่หนาวมากให้ได้ การปรับเรื่องการภาษาในการสื่อสารก็สำคัญไม่แพ้กัน
“อาจารย์ที่เป็น Co-Teacher กัน เป็นอาจารย์จากฝรั่งเศส ก็จะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนการสื่อสารกับคนเกาหลี บางคนภาษาอังกฤษอาจจะไม่ได้ดีมาก แต่เราสามารถเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายพูดได้
ส่วนการสอนที่นั่นจะต้องสอนร่วมกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ก็จะมีสไตล์การสอนที่ต่างกัน เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจหรือเรียนรู้จากเขาก่อนว่าส่วนไหนที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ และควรสอนนักเรียนให้เขียนเป็นประโยค อันนี้เป็นส่วนที่ต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก”
เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง
การเคารพผู้อาวุโสและเรื่องการตรงต่อเวลา เป็นเรื่องสำคัญในวัฒนธรรมเกาหลี
“ที่เห็นหลักๆ เลยก็คือ เขาค่อนข้างที่จะเคารพคนที่มีอายุมากกว่า ที่นี่ทุกคนให้เกียรติกัน เพราะว่าอาจารย์ที่ KSA จบปริญญาเอกกันหมด ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ และเขาจะมี Union ของครูที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารด้วย ซึ่งก็จะช่วยดูแลปกป้องพวกครูด้วยกันเองได้
ทุกอย่างจะค่อนข้างตรงเวลา ในออฟฟิศจะแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ อยู่ 2 คนกับเพื่อนร่วมงานอีกคนนึง เวลาทำงานก็จะไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไหร่ ตั้งใจทำงานเต็มที่ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เนื้อหาเยอะมาก แล้วเวลาเรียนค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เลยต้องทำตามที่กำหนดไว้อย่างเป๊ะๆ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเขาค่อนข้างน้อย สไตล์การทำงานจะคล้าย ๆ กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คือทุกคนมาทำงาน ถ้ามีโอกาสได้ไปสังสรรค์ร่วมกันก็จะไป แต่ว่าจะแบบไม่ได้สนิทชิดเชื้อกันมาก”
อาจารย์ใหม่ถ่ายภาพร่วมกับครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ของ Korea Science Academy of KAIST (KSA)
การสอนที่ KSA สไตล์ครูมหาวิทยาลัย
สไตล์การทำงานที่ยืดหยุ่น ทำให้ได้มีช่วงเวลาหลังเลิกงานได้เดินทางไปศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรม
“ปกติมีสอน 4 วันต่อสัปดาห์ จันทร์ถึงพฤหัสบดี ก็จะเป็นวิชา Mathematics 2 สอน 5 คาบต่อสัปดาห์ และอีกวิชาก็จะเป็น Creative Basic Research อันนี้สอน 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ว่า 3 คาบรวด จริง ๆ แล้วคาบแรก เขาจะเริ่ม 8:50 น แต่ว่าครูที่ไม่มีคาบแรกสามารถไปถึงโรงเรียนได้เกือบ ๆ 9.00 น. เลิกงานประมาณ 16.30 น. ถ้าใครไม่มีสอนสามารถกลับบ้านก่อนได้ รูปแบบคล้าย ๆ ชีวิตในมหาลัย อาจไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันเยอะ แต่ว่าเขาจะทำงานกันจริงจัง คือ เวลาทำงานก็ทำงาน ถ้าเวลาพักก็คุยเต็มที่
ตอนเย็นถ้ามีเวลาว่างก็อาจจะนั่งรถไปเที่ยวเอง ที่นี่สามารถขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยใช้การ์ดใบเดียว ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็จะมีอาจารย์ที่นั่นคอยดูแลเรา พาไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ในเมืองปูซาน เขาดูแลดีมากเลย”
ความน่าสนใจในการสอนเด็ก KSA
ด้วยปัจจัยเรื่องของภาษา จึงทำให้การสอนเน้นไปที่นักเรียนต่างชาติ แต่ก็ยังมีโอกาสสอนนักเรียนเกาหลีด้วยเช่นกัน ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของการจัดการเรียนการสอนนักเรียนสองกลุ่ม
“การสอนจะเน้นนักเรียนต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่กล้าแสดงความเห็น แต่ว่าทักษะทางด้านคณิตศาสตร์อาจจะไม่ได้สูงเท่านักเรียนเกาหลี เพราะเขาจะมีเกณฑ์การคัดเลือกต่างกัน ข้อสอบหรือคำถามจะไม่ได้ยากเท่ากับของนักเรียนเกาหลี ทำให้เราต้องค่อย ๆ อธิบาย หรือบางครั้งก็ต้องพูดมากกว่า 1 ครั้ง อันนี้เป็นส่วนที่ยาก
ส่วนนักเรียนเกาหลีเก่งมากเลย เก่งจริงๆ อาจจะไม่ค่อยกล้าแสดงออกมากเพราะไม่ถนัดภาษาอังกฤษ แต่เขาพยายามพูด ยกตัวอย่างที่สอนในวิชา Creative Basic Research ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนเกาหลี และเป็นนักเรียน ม.4 ที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษมาก แต่ว่าทุกครั้งที่ครูเขียนบทนิยามหรือทฤษฎีอะไรบนกระดาน เด็ก ๆ จะยกมือแล้วให้ข้อสังเกต ยกตัวอย่างประกอบ หรือว่าเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่พูดถึงใน section ที่แล้วหรือครั้งที่แล้ว ทุกคนจะช่วยกัน พูดผิดพูดถูก พูดไม่เข้าใจ เพื่อนก็จะพยายามช่วย ไม่ได้มีการแซวว่าภาษาอังกฤษไม่ดีอะไรแบบนี้ เป็นบรรยากาศที่ดีมากเลย แต่ว่าบางครั้งก็จะมีเด็กบางคนที่พูดเก่งจนเพื่อนไม่ได้พูด เราก็ต้องบอกว่า เดี๋ยวเราลองฟังเพื่อนคนนี้ก่อนนะ หรืออาจจะลองสุ่มถามนักเรียนที่ไม่ค่อยได้พูด ว่ามีความเห็นกับทฤษฎีนี้ยังไง หรือมีไอเดียในการพิสูจน์ไหม อันนี้ก็จะเป็นความยาก”
กิจกรรมของ KSA ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ไม่ว่าโรงเรียนไหน ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การจัดกิจกรรมหลายอย่างอาจต้องถูกยกเลิกไป แต่บางกิจกรรมก็มีการปรับรูปแบบให้สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งรวมถึงสองกิจกรรมที่ “อาจารย์ใหม่”ได้เข้าร่วมด้วย
“กิจกรรมแรกคือ Entrance Ceremony 2022 กิจกรรมต้อนรับนักเรียน ม.4 ที่เข้ามาใหม่ ภายในงานจะมีการกล่าวต้อนรับจาก ผอ. มีคลิปวิดีโอจากอธิการบดีของ KAIST และผู้ว่าของเมืองปูซาน มาเปิดให้นักเรียนดู อันนี้ก็น่าสนใจ นักเรียนจะภูมิใจที่คนระดับนี้ยังมากล่าวต้อนรับเขา โดยตัวเองก็ได้มีโอกาสแนะนำตัวและกล่าวทักทายในพิธีการนี้ด้วย
อาจารย์ใหม่ – ดร. ธนัชกฤศ แก้วเต็ม (ที่สองจากซ้าย) แนะนำตัวในงาน Entrance Ceremony 2022
อีกกิจกรรมหนึ่งก็จะเป็น Science Academic Festival (SAF) กิจกรรมการแข่งขันทักษะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงก่อนปิด Midterm Break เด็กที่นั่นจะได้ใช้ทักษะทุกอย่างที่ได้เรียนมา มาแข่งขันหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยในปีนี้ เป็นการสร้างแบบจำลองการทำงานของมือจากหลอดและเส้นด้าย ตัวหลอดจะทำหน้าที่เป็นนิ้ว ส่วนเส้นด้ายก็ทำหน้าที่เป็นเส้นเอ็นที่คอยขยับนิ้ว เด็ก ๆ จะต้องเอามือที่สร้างไปหยิบลูกอมในถังหนึ่งครั้ง ใครได้จำนวนมากที่สุดก็จะชนะ โดยกิจกรรมนี้ ครูเขาจะมีคลิปวิดีโอสอนแต่คลิปไม่ได้ละเอียดถึงขนาดทำตามได้ เด็ก ๆ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ว่า จะทำยังไงถึงจะหยิบได้ดีและหยิบได้เยอะ
นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันอีกอย่างหนึ่ง ที่เด็ก ๆ จะต้องรวมกลุ่มกันสร้างแบบจำลองของสถานที่สำคัญในประเทศต่าง ๆ จากอุปกรณ์ที่กำหนดให้พร้อมกับรูป 1 ใบ ให้สร้างตามรูปแบบนี้นะ แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมมาให้ว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ตึกหรือสถูปนี้จะต้องคงทนอยู่ได้ เมื่อวางลูกบอลน้ำหนักเท่านี้ลงไป และสามารถคงทนอยู่ได้อย่างน้อยกี่นาที อันนี้ก็ดี ในงานนี้สมาชิกชุมนุมต่าง ๆ ในโรงเรียนจะมาแสดงผลงานของชุมนุมตัวเองด้วย”
ศักยภาพเด็ก MWIT VS KSA
“ศักยภาพด้านการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เด็กโรงเรียนเรามีความสามารถใกล้เคียงกับเด็กเกาหลี แต่ว่าเด็กเกาหลีเขาจะตั้งใจเรียนมาก เพราะว่าต้องใช้คะแนนสอบหรือว่าเกรดเฉลี่ยไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัย เขาสามารถเอาเกรดที่โรงเรียนไปสมัคร Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ได้โดยที่ไม่ต้องสอบ National Test เหมือนเด็กคนอื่นในประเทศ เพราะฉะนั้นเขาเลยตั้งใจทำเกรดให้ดี ต้องแข่งขันกันเยอะ
อีกอย่างหนึ่งคือ เขาจะมีเวลาให้เด็ก self-study จาก 19.30 น .ถึง 21.30 น. ของทุกวัน ก็เหมือนแกมบังคับว่าเด็ก ๆ จะต้องต้องอ่านหนังสือหรือว่าต้องทำการบ้านนะ อีกอย่างนึงที่ประทับใจ เด็กเกาหลีจะไม่หลับในคาบ ถ้าเกิดว่าเด็ก ๆ รู้สึกง่วง บริเวณหลังห้องจะมีโต๊ะสูง ๆ อยู่ เขาก็จะลุกขึ้นมาแล้วก็ไปยืนเรียน อันนี้ก็เป็นไอเดียที่ดีถ้าเกิดเราอยากใช้”
ความประทับใจที่มีต่อ KSA
การเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ตามความสนใจ ส่งผลให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์และเกิดกระบวนการพัฒนาทางความคิด ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
“ที่นั่นเขาจะมีห้องที่ชื่อว่า Dream Design Center เป็นสถานที่รวบรวมอุปกรณ์ เทคโนโลยีทันสมัย และมีห้องประชุมที่บรรยากาศเป็นกันเอง เด็ก ๆ สามารถนัดคุยงาน นัดประชุม หรือว่าทดลองประดิษฐ์อะไรได้เลย คิดว่าถ้าเกิดมีห้องหรือมีสถานที่อะไรแบบนี้ มันจะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำอะไรขึ้นมาสักอย่างนึงได้ไม่ยาก ไม่ต้องไปอยู่ในห้องที่ต้องมีคนคุมตลอด มันจำกัดความคิดสร้างสรรค์ อันนี้คือเข้าไปแล้วบรรยากาศเหมือนอยู่ที่บ้าน มีอุปกรณ์ มีของนู่นนี่นั่นให้ประกอบ ให้หยิบจับทำได้ตลอด
พอในช่วงปิดเทอม เด็กเกาหลีจะมีโอกาสได้ไปฝึกทำวิจัยที่สถาบันทั้งในประเทศ อย่างเช่น ใน KAIST ใน Postech (Pohang University of Science and Technology) หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศ เขาก็จะมีโครงการที่ทำร่วมกับสถาบันวิจัยในอเมริกา เกาหลี หรือเยอรมัน แบบนี้ก็น่าสนใจ เด็ก ๆ เราก็น่าจะสามารถทำได้เหมือนกัน ถ้าโรงเรียนสามารถสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยอะไรแบบนี้ได้ ก็คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับเด็ก ๆ
เด็กเกาหลีจะถูกสอนให้ทำเพื่อประเทศชาติก่อนตัวเอง ถ้าตัวเราเก่ง ประเทศก็จะพัฒนาไปด้วย อันนี้คิดว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศเกาหลีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถ้าเราสามารถสร้างเด็กให้คิดแบบนี้ได้ ก็น่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศได้เยอะแยะเต็มไปหมด”
การจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ของ KSA
“วิธีการสอนเค้าไม่ได้แปลกใหม่ เป็นเลคเชอร์ 4 ชั่วโมง อีก 1 ชั่วโมง ให้เด็กทำโจทย์แบบฝึกหัดด้วยตัวเอง อันนี้ก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ต้องเอากลับมาคิดว่า สอนแบบนี้มันจะดีหรือไม่ดียังไง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เนื้อหาที่เขาเอามาสอนเด็ก จะมีเนื้อหาที่นอกเหนือจากใน textbook ที่เราใช้ เขาจะมีบทประยุกต์ที่ทำให้เด็ก ๆ เห็นภาพ และมีวิธีการอธิบายที่ละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน เด็ก ๆ ที่ไม่ได้ถนัดคณิตศาสตร์มากก็สามารถเข้าใจตามได้ อันนี้เป็นส่วนที่ดีที่เอากลับมาใช้ที่นี่เหมือนกัน คือ ไม่ได้มองแค่เฉพาะเด็กเก่งอย่างเดียว เราต้องมองถึงเด็กที่อาจจะมีความสามารถกลาง ๆ หรือน้อยด้วย ว่าควรจะอธิบายยังไง
อีกอย่างหนึ่งที่เขาเน้นมากคือ การเขียน ต้องเขียนอธิบายเหตุผลให้เป็นประโยค ไม่ใช่มีแต่ลิสต์สมการมา สมการแต่ละบรรทัดต้องเขียนว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้ โดยเขียนในรูปแบบประโยค ซึ่งจริง ๆ แล้วลักษณะการสอนแบบนี้ เคยถูกฝึกมาตั้งแต่ตอนที่เรียนที่อังกฤษ ตอนนั้นเป็น TA (Teaching Assistant) อยู่ เขาบอกว่า คุณคอยบอกให้เด็กที่อยู่ในคลาสให้เขียนเป็นประโยค ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องขนาดนั้น แต่พอมาสอนที่นี่ เขาก็เน้นจริง ๆ ด้วย เหตุผลที่ต้องเขียนแบบนี้ เพราะว่าเด็ก ๆ จะได้เรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ แล้วถึงจะถ่ายทอดออกมาให้เป็นประโยค ไม่อย่างนั้นแล้ว เด็ก ๆ จะไม่สามารอธิบายแนวคิดของตัวเองได้ เขาจะเขียนสลับไปสลับมา”
ประสบการณ์จาก KSA สู่การพัฒนาการสอน และการพัฒนานักเรียน MWIT
จากรูปแบบการสอนที่เน้นเขียนอธิบายสมการเป็นประโยค เป็นสิ่งที่อาจารย์ใหม่นำมาปรับใช้ในการสอนนักเรียน MWIT
“เดิมเด็ก ๆ ส่งการบ้านมา เขียนแบบทดเลขว่าทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ลูกศรโยงไปมา ตอนนี้เวลาสอนก็เลยพยายามที่จะเขียนอธิบายให้เป็นประโยค เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อที่เด็กเห็นเราเขียน เขาก็จะได้เขียนตาม ไม่งั้นเขาก็จะบอกว่าอาจารย์สอน อาจารย์ยังไม่เขียนเลย จะมาบังคับให้พวกหนูเขียนได้ยังไง เดี๋ยวรอดูผลตอบรับอีกที
และที่ KSA เวลาเขาออกข้อสอบ จะมีข้อสอบ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะต้องส่งก่อน เป็นส่วนที่ใช้เวลาในการทำน้อย เป็นส่วนที่โจทย์บางข้อ เด็กอาจจะเคยเห็นและฝึกจนชำนาญมาบ้างแล้ว ประมาณว่าเห็นโจทย์ปุ๊บ แก้ได้เลยโดยใช้เวลาน้อย แบบนี้เป็นการฝึกทักษะที่จะต้องคิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว แล้วก็เตรียมตัวเป็นอย่างดี เด็กจะต้องส่งส่วนนี้ก่อน แล้วจึงจะทำอีกส่วนนึง ซึ่งจะยากขึ้นอีกนิด ต้องใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์และเขียนอธิบายเพิ่มขึ้น อันนี้ส่งทีหลัง อันนี้ก็อาจจะเป็นไอเดียที่ดีในการวัดผลเพราะว่าเราสามารถแยกการวัดผลออกไปเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือฝึกจนชำนาญ อีกส่วนหนึ่งก็คือต้องคิดเดี๋ยวนั้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการคิดวิเคราะห์ในปัญหาใหม่ ๆ ข้อสอบแบบนี้ก็น่าสนใจ แต่จะต้องปรึกษากับเพื่อน ๆ ในสาขาก่อน”
นอกจากเรื่องการสอนแล้ว การเปิดโลกทัศน์ของนักเรียนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตั้งใจไว้
“นำประสบการณ์ที่ได้เห็นมาเล่าให้เด็กฟังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ตัวอย่างเช่น ในคลาส Creative Basic Research มีนักเรียนคนนึงที่เขาเขียนทุกอย่างที่ได้เรียนมาเกือบครึ่งเทอมบนกระดานข้างหลังห้อง แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์แต่ว่าประทับใจมาก เขาเรียกมันว่า Wall of Biology ทุกอย่างที่เรียนมา ทั้งสูตรเคมี ทั้งรูปเซลล์ วาดและเขียนมือขึ้นมาในช่วงที่เขาว่างหรือช่วงที่พักเบรกเต็มกระดานไปหมด ดีมากจนเพื่อนจากห้องอื่นเข้ามาถ่ายรูปกับกระดานนี้ อันนี้ก็เป็นสิ่งดีที่ให้เด็กที่นี่เห็นว่า เด็กนักเรียนที่นู่นเขาใช้เวลาว่างในการทำอะไรแบบนี้ ส่วนตัวคิดว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีอย่างหนึ่ง
ตอนนี้กำลังเล็งไว้อีกอย่างว่า อยากพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์นักเรียนด้วยการตั้งคำถาม สังเกตจากการสอนหลาย ๆ ครั้ง เด็กเราจะไม่ค่อยถาม ก็เลยอยากให้เขาตั้งคำถามในเชิงของทำไมหรืออย่างไรในช่วงท้ายคาบเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนไป อาจจะให้เขียนลงสมุดหรืออาจจะสุ่มถามบางคน เพราะว่าถ้าเราไม่ถามเลย เขาก็จะไม่ได้คิด แต่ถ้าเราบอกว่าไหนลองตั้งคำถามมา เขาก็จะเริ่มได้ฉุกคิดแล้วว่าจะต้องถามอะไรนะ แล้วที่เรียนไปวันนี้รู้เรื่องหรือเปล่า ถ้าเขาเรียนไม่รู้เรื่อง ยังไงเขาก็ถามอะไรแบบนี้ไม่ได้ อันนี้ก็น่าจะเป็นไอเดียที่ดีอีกอันนึง”
หลังจากที่เราได้พูดคุยกับ อาจารย์ใหม่ – ดร.ธนัชกฤศ แก้วเต็ม มาพักใหญ่ เชื่อว่าทุกคนมองเห็นรูปแบบการสอน การจัดการเรียนรู้ การใช้ชีวิตของนักเรียน และมุมมองการพัฒนานักเรียนของโรงเรียน Korea Science Academy of KAIST ไปพร้อม ๆ กับพวกเรา หลายสิ่งหลายอย่างมีความน่าสนใจ และสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนานักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้
สุดท้ายแล้ว การหันกลับมามองโรงเรียนอื่น ๆ รอบตัวเรา และตั้งเป้าหมายสู่การพัฒนา จะทำให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เดินไปพร้อม ๆ กับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในต่างประเทศ