นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการ Boot camp : Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน ซึ่งจัดการแข่งขัน Hackathon รอบชิงชนะเลิศ ไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และสถานีวิทยุจุฬา (Chula Radio) จัดโครงการ Boot camp : Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “Beware Your Step: ก้าวต่อไป ไร้รอยเท้า” ขึ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถต่อยอดและนำเสนอแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน
กิจกรรมนี้มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 670 ทีม ที่รวมกลุ่มกัน ทีมละ 3 คน พร้อมด้วยครูที่ปรึกษา จำนวน 1 คน สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อรับโอกาสเป็น 20 ทีมสุดท้าย ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ของโครงการ Green Mission by Chula X Gulf ภารกิจรักษ์ยั่งยืน หัวข้อ “Beware Your Step: ก้าวต่อไป ไร้รอยเท้า” เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 22 – 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ทีมของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ประกอบด้วย นายกฤษณพงษ์ กอบกิจ นักเรียนชั้น ม.5/5 นางสาววนัชพร สุทธิพิริยะหทัย นักเรียนชั้น ม.5/2 นางสาวมิน สรณาคมน์ นักเรียนชั้น ม.5/10 และ อาจารย์ปวรปรัชญ์ อิ่มละมัย ครูสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เป็น 1 ใน 20 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม ณ สถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
- วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าอุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินกิจการโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานของโรงไฟฟ้า การดำเนินกิจการภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม
- วันที่ 22-24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เข้าร่วมอบรม Boot Camp
- วันที่ 25 ตุลาคม 2567 แข่งขัน Hackathon รอบชิงชนะเลิศ โดยนักเรียนจะต้องระดมสมอง สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการ Hackathon เพื่อลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โจทย์ “การพัฒนาชุมุชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนและเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งนักเรียนต้องวางแผนโครงการ โดยเลือกพื้นที่ศึกษาที่สนใจ และวางแผนพัฒนาโครงการ เพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนและคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ผลปรากฏว่า ทีมของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 20,000 บาท
https://curadio.chula.ac.th/v2022/activity/detail/?03a4, ปวรปรัชญ์ อิ่มละมัย (ข้อมูล)
ปวรปรัชญ์ อิ่มละมัย (ภาพ)