โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในฐานะโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีศักยภาพสูงด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้สั่งสมประสบการณ์ในการดำเนินการและพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างองค์ความรู้ ทั้งในแง่ของการจัดการศึกษาด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งพร้อมที่จะเผยแพร่ไปยังครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย
ดังนั้น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการ สำหรับครูและบุคลากรทางศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขึ้น ในระหว่างวันที่ 7 – 8 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเนื้อหาวิชา การจัดการเรียนการสอน การสร้างสื่อประกอบการสอน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ภายใต้บริบทและทรัพยากรที่มีของโรงเรียนที่สังกัดได้
การอบรมเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567 ด้วยกิจกรรมบรรยายพิเศษ โดย ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และต่อด้วยการนำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของวิชาต่าง ๆ ประกอบด้วย
- หัวข้อวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง “การประยุกต์ใช้บล็อกดีไซน์ในการสร้างการ์ดเกมจับคู่” โดย ดร.ธรรมนูญ ผุยรอด ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ
- หัวข้อวิชาชีววิทยา เรื่อง “การจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐาน (Activity base) ผ่านรายวิชา “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ในรูปแบบการสอน Mini-course” โดย อาจารย์ทิพนาถ น้อยแก้ว และ ดร.พัสวีพิชญ์ รุ่งโรจน์ตระกูล ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- หัวข้อวิชาคอมพิวเตอร์ เรื่อง “การจัดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติด้วย Colab ร่วมกับการใช้ชุดข้อมูลที่น่าสนใจและกระบวนการ Checkoff เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลเบื้องต้น” โดย อาจารย์เลาขวัญ งามประสิทธิ์ ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ
- หัวข้อวิชาเคมี เรื่อง “กิจกรรมส่งเสริมความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการเรียนรู้เคมีย่อส่วนเรื่อง ฝนกรด” โดย ดร.อุษา จีนเจนกิจ ครูสาขาวิชาเคมี
- หัวข้อวิชาฟิสิกส์ เรื่อง “นวัตกรรม (Innovation) สื่อการสอน ชุดการทดลอง DIY หาค่ามอดุลัสของยัง เพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้ตามกรอบการประเมิน PISA” โดย ดร.กิติศักดิ์ บุญขำ ครูสาขาวิชาฟิสิกส์
- หัวข้อวิชาสังคมศึกษา เรื่อง “การนำนวัตกรรม (4Cs) ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศิลปศาสตร์ศึกษา 5” โดย ดร.สิริรัตน์ พงษ์พิพัฒนพันธุ์ ครูสาขาวิชาศิลปศาสตร์
จากนั้น ผู้เข้าอบรมทั้งหมดได้เข้ารับการอบรมในหัวข้อที่ได้ลงทะเบียนไว้ จำนวน 2 หัวข้อ ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567 และช่วงเช้าของวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2567