คณะครูและนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานและนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน the 20th International Exhibition of Young Inventors (IEYI) 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน พร้อมคว้ารางวัล 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษมาจากการแข่งขัน
งาน International Exhibition of Young Inventors (IEYI) เป็นเวทีการแข่งขันโครงงานและนวัตกรรมระดับนานาชาติ จัดโดย the International Exhibition for Young Inventors (IEYI) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ให้กับเยาวชน รวมทั้งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของเยาวชนจากทั่วโลก โดยงาน International Exhibition of Young Inventors จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมีการหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพจัดงานในกลุ่มประเทศสมาชิกเป็นประจำทุกปี สำหรับในปีนี้ ได้จัดกิจกรรมขึ้นทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ณ National Taiwan Normal University (NTNU) โดยมีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อายุระหว่าง 6 – 19 ปี เข้าร่วมงานกว่า 800 คน จาก 9 ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย และสาธารณรัฐจีน
สำหรับการนำเสนอโครงงานหรือนวัตกรรมในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 9 สาขา ได้แก่
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (Education)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและนันทนาการ (Recreation & Sports)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตร (Food & Agriculture)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Green Technology & Sustainability)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety & Health)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้พิการ และหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น (Technology for Special Needs)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ (Technology for Elderly People)
- โครงงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาด และเครื่องครัว เป็นต้น (Industrial Design & Convenience Devices for Daily Life)
ในการนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้มอบหมายให้ ดร.สิริหทัย ศรีขวัญใจ ครูสาขาวิชาเคมี นำนักเรียนจำนวน 9 คน ใน 3 โครงงาน เข้าร่วมนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- โครงงานสาขาวิชาเคมีเรื่อง “Development of Carbon Ink for Screen-Printed Mesoporous Carbon Electrode for Quantification of Samples.” นำเสนอโดย นางสาวนวิยา ดีจักรวาล นักเรียนชั้น ม.6/10 นางสาวชนัญชิดา หนูฤทธิ์ นักเรียนชั้น ม.6/10 และ นางสาววรพร อักโข นักเรียนชั้น ม.6/10 โดยมี ดร.ณรงค์ศักดิ์ ขุนรักษา ครูสาขาวิชาเคมี และ ผศ.ดร.ภูมิเดช พู่ทองคํา จาก ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สาขา Green Technology & Sustainability และรางวัลพิเศษ Platinum Award พร้อมรับเงินรางวัล 3,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่
- โครงงานสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพเรื่อง “Development of Nano Spray from Extracts in Pomegranate Peel to Inhibit Staphylococcus Aureus Causing Infections on Dermatitis Injuries.” นำเสนอโดย นางสาวปาริชา สิงห์กัญญา นักเรียนชั้น ม.6/4 นางสาวภัคธิมา โรจน์กิจจานุรักษ์ นักเรียนชั้น ม.6/4 และ นางสาวอภิชญา อนุมานไพศาล นักเรียนชั้น ม.6/4 โดยมี ดร.อรวรรณ ปิยะบุญ ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สาขา Industrial Design & Convenience Devices for Daily Life
- โครงงานสาขาวิชาศิลปศาสตร์เรื่อง “Web Application for Organizing Travel Plans using the principles of Tourism Logistics in the Service Area of the Mass Rapid Transit System.”นำเสนอโดย นายกิตติธัช เทียนโพธิวัฒน์ นักเรียนชั้น ม.6/4 นายกษิดิ์พิชญ์ วิภาตะรักษ์ นักเรียนชั้น ม.6/4 และ นายปรัชญ์วิรุฬ เพทัย นักเรียนชั้น ม.6/4 มี ดร.สิริรัตน์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง สาขา Green Technology & Sustainability และรางวัลพิเศษ JII Encouragement Prize
ขณะเดียวกัน ดร.สิริหทัย ศรีขวัญใจ ได้เข้าร่วมกิจกรรม International Forum of Technology Contest and Education และนำเสนอผลงานเรื่อง “STEM Education and Contest be developed and implemented in Mahidol Wittayanusorn School, Thailand” ด้วย
นอกจากนี้ คณะยังได้มีโอกาสศึกษาดูงานสถานที่สำคัญ เช่น
- บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์สัญชาติไต้หวัน “Acer Incorporated”
- อุทยานเกาะเหอผิง (Heping Island Park) เกาะทางตอนเหนือสุดของจังหวัดจีหลง (Keelung) ที่เชื่อมต่อกับตัวเมืองจีหลงและแผ่นดินไต้หวันด้วยสะพานเหอผิง และมีปราสาทแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองจีหลงที่สวยงามและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
- ถนนคนเดิน Shenkeng Street สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณีของชาวไต้หวันผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและร้านขายของที่น่าสนใจ
- มหาวิทยาลัย National Taiwan University (NTU) หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้ความสนใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยงานวิชาการของโรงเรียนได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาดูงานด้านการศึกษาต่อและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน