IDEX 2024 : Innovation, Design, Engineering eXchange ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม พ.ศ.2567 ณ Anglo-Chinese School (Independent) สาธารณรัฐสิงคโปร์ นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คว้ารางวัล GOLD AWARD อีกครั้ง หลังจากเคยได้รับรางวัลนี้ในการแข่งขัน IDEX 2022
การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ IDEX 2024 : Innovation, Design, Engineering eXchange ปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Technology for Humanity” เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้นำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งสร้างสรรค์จากแนวคิดทางวิศวกรรม ผสมผสานกับการออกแบบที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมได้
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้มอบหมายให้ ดร.กมลพร กันทะวงค์ ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ นำนักเรียน จำนวน 8 คน เข้าร่วมนำเสนอโครงงาน จำนวน 3 โครงงาน ประกอบด้วย
- โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง “Colorimetric test kit to detect oxybenzone in sunscreen products” นำเสนอโดย นายพีรวัส จำจด นักเรียนชั้น ม.5/5 นางสาวณัฏฐณิชา เลิศศรีสกุลรัตน์ นักเรียนชั้น ม.5/8 และ นางสาวพีรชญา ลิ้มมหาคุณ นักเรียนชั้น ม.5/4 โดยมี ดร.ดวงแข ศรีคุณ และ อาจารย์วัลลภ คงนะ ครูสาขาวิชาเคมี เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
- โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง “2-in-1 Innovative Apparatus for Chemical Detection in Agricultural and Environmental Applications” นำเสนอโดย นางสาวชัญญา จิรภาวสุทธิ์ นักเรียนชั้น ม.5/2 นายชนกนนท์ กองกันทะ นักเรียนชั้น ม.5/2 และ นายมัทธิว เหมะ นักเรียนชั้น ม.5/2 โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ หัวหน้าสาขาวิชาเคมี และ อาจารย์ชาคริต สมานรักษ์ ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
- โครงงานสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรื่อง “The development of dental sealant containing ion-releasing fillers and polylysine to promote tooth repair and reduce secondary caries” นำเสนอโดย นางสาวพัชร์พิชา เลิศวิสิฐพล นักเรียนชั้น ม.5/6 และ นายยศวีร์ วรภาสไพบูลย์ นักเรียนชั้น ม.5/6 โดยมี ดร.สุภานันท์ สุจริต หัวหน้าสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
ในช่วง 2 วันแรกของการจัดงาน (25 – 26 มีนาคม พ.ศ. 2567) เป็นช่วงเวลาที่ผู้ร่วมงานทั้งหมดได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานและผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบโปสเตอร์ (Exhibition) ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะมีการคัดเลือก 3 ทีม ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ให้เข้าร่วมนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศ (Final Round) ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567
ในปีนี้ นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เจ้าของผลงานเรื่อง “2-in-1 Innovative Apparatus for Chemical Detection in Agricultural and Environmental Applications” ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 3 ทีมสุดท้าย ที่ร่วมนำเสนอในรอบชิงชนะเลิศ และสามารถคว้ารางวัล GOLD AWARD (เทียบเท่ารางวัลที่ 2) พร้อมเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ มาครอง
นอกเหนือจากการนำเสนอโครงงานแล้ว ครูและนักเรียนยังได้มีโอกาสชมการแสดงแสงสี ณ Gardens by the bay และเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ โดยรอบ ภายใต้กิจกรรม Learning Journey ทั้งการเยี่ยมชม Singapore City Gallery ที่เล่าถึงความเป็นมาและแผนผังเมืองของสาธารณรัฐสิงคโปร์ และ Marina Barrage ที่มีการแนะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนเก่ารุ่นที่ 30 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสาธารณรัฐสิงคโปร์แวะมาพาไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยของตนเอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจการศึกษาต่อของน้อง ๆ ด้วย