โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมกิจกรรมทางวิชาการ The ASMS International Science Fair 2023 ณ Australian Science & Mathematics School เครือรัฐออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 2-9 กันยายน พ.ศ. 2566
Australian Science & Mathematics School เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้จัดงาน The ASMS International Science Fair ได้เชิญโรงเรียนเครือข่ายใน International Science Schools Network จากประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศแคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ เข้าร่วมงานร่วมกับโรงเรียนในประเทศ ซึ่งแม้ว่าโรงเรียนในสาธารณรัฐสิงคโปร์จะไม่สามารถเดินทางมาที่เครือรัฐออสเตรเลียได้ แต่ก็เข้าร่วมงานในรูปแบบออนไลน์ ที่จัดขึ้นภายใต้ธีม “Space to Innovate”
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คัดเลือกนักเรียนจำนวน 3 คน ประกอบด้วย นางสาวกุมภา จุลจันทร์ นางสาวพิมพ์ชนก อู่สันติวงศ์ และ นายกฤติน บัวสังข์ นักเรียนชั้น ม.6/1 เข้าร่วมนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “The Performance of Data Augmentation in Pneumonia Classification with Chest X-ray Using Deep Learning” โดยมี ดร.โอภาส พระเทพ ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นครูผู้ดูแลนักเรียนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- กิจกรรม Challenge Based Learning
ผู้จัดงานได้กำหนดหัวข้อทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าสนใจไว้ให้นักเรียนเลือกเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและเพื่อนต่างชาติ ตลอด 5 วันของการจัดงาน เช่น Artificial Intelligence, Astronomy, Paleontology, Microscopy, Biomechanical Engineering, Aviation, Indigenous Art และ Forensic Science ซึ่งผู้นำแต่ละกลุ่มจะแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ และให้นักเรียนเลือกประเด็นที่จะไปศึกษาค้นคว้าและมานำเสนอ ซึ่งนักเรียนอาจเลือกทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่มได้ตามความสนใจ โดยในช่วง 4 วันแรก ทุกคนภายในกลุ่มย่อยจะมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งในประเด็นของตนเองและของเพื่อน ๆ จากนั้น ในวันสุดท้าย ผู้จัดงานได้ให้ทุกกลุ่มนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าและการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์
- กิจกรรม Excursion
ผู้เข้าร่วมงานสามารถเลือกไปศึกษานอกสถานที่ ที่สอดคล้องกับธีมของกิจกรรม Challenge Based Learning เพื่อสนับสนุนแนวคิดในการศึกษาค้นคว้า เช่น Adelaide Planetarium, Tonsley Innovation District, Ngaut Ngaut Conservation Park เป็นต้น
- กิจกรรมการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์
การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์มีทั้งรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ เปิดโอกาสให้กับผู้เข้าร่วมงานและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด
- กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครู
ครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ หลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การเรียนรู้ผ่านการทำวิจัย การดูแลนักเรียน และการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร
ทั้งหมดนี้ ล้วนเพิ่มโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแสดงความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งได้สร้างมิตรภาพร่วมกับผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนานักเรียนและครูต่อไปในอนาคต
งานวิเทศสัมพันธ์ (ข้อมูล)
โอภาส พระเทพ (ภาพ)