การสร้างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้เป็นที่ยอมรับจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ (International Recognition) เป็นพันธกิจหนึ่งของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จึงเป็นบทบาทของผู้บริหารและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านกิจการต่างประเทศในการเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อสานสัมพันธ์และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ประเทศญี่ปุ่นคือประเทศแรกของพันธกิจนี้ ประเทศที่รายล้อมไปด้วยสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพมากมาย ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการถ่ายทอดองค์ความรู้
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีโรงเรียนในความร่วมมือกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในลักษณะของโรงเรียนเครือข่าย (Partner Schools) ถึง 3 โรงเรียนด้วยกัน ประกอบด้วย
1. Ritsumeikan High School ตั้งอยู่ ณ เมือง NagaoKakyo จังหวัดเกียวโต
2. Waseda University Honjo Seior High School ตั้งอยู่ ณ เมือง Honjo จังหวัดไซตามะ
3. Aichi Prefectural Handa Senior High School ตั้งอยู่ ณ เมือง Handa จังหวัดไอจิ
โดยช่วงปิดภาคเรียนของทุกปีการศึกษา นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ต่างสนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน ณ โรงเรียนเครือข่ายข้างต้น เพื่อไขว่คว้าหาประสบการณ์ทางด้านวิชาการและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพิ่มเติม
การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ “ประเทศญี่ปุ่น” คือประเทศยอดฮิตที่นักเรียนสนใจสมัครเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะสมัครด้วยตนเอง หรือสมัครผ่านโครงการที่โรงเรียนเสนอชื่อให้กับมหาวิทยาลัย (School Nomination) ทำให้การเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ ผู้บริหารและคณะครูของโรงเรียนมีเป้าหมายในการเข้าพบผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแนะนำตัวตนของโรงเรียนให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พร้อมด้วย ดร.จิโรจน์ แสดงรัตนประเสริฐ ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ อาจารย์ธนภัทร สินธวาชีวะ เจ้าหน้าที่กิจกรรมวิเทศสัมพันธ์ งานวิชาการ ได้เดินทางเข้าพบผู้บริหารและผู้แทนจาก Tokyo Institute of Technology และ Kyoto University ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
การเดินทางวันที่ 1
คณะฯ ได้เข้าพบผู้บริหาร Global Scientists and Engineers Program (GSEP) ของ Tokyo Institute of Technology ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีการสอนเป็นภาษาอังกฤษตลอดทั้งหลักสูตร โดยสถาบันมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย และวิศวกรรม ช่วงแรกผู้เรียนยังไม่ต้องเลือกสาขา แต่เมื่อได้บูรณาการสิ่งที่เรียนเข้ากับความสนใจที่แท้จริงแล้ว ผู้เรียนถึงจะเลือกศึกษาและทำวิจัยเชิงลึกในสาขาที่ตนเองสนใจ ซึ่งแม้ว่าหลักสูตรนี้จะเปิดสอนไม่นาน แต่ได้รับความสนใจจากนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ไม่น้อย
นอกจากคณะฯ จะเยี่ยมได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของหลักสูตรนี้แล้ว ยังได้พบปะกับนักเรียนเก่า รุ่นที่ 24-29 ที่เรียนที่นี่มากถึง 21 คนด้วย
การเดินทางวันที่ 2
Waseda University Honjo Seior High School โรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือกับ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ คือจุดมุ่งหมายของวันนี้ โดยโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงของเมืองฮอนโจ โดยหลังจากเดินเยี่ยมชมแล้ว คณะฯ พบว่า การจัดการเรียนการสอนของที่นี่ นอกจากจะให้นักเรียนเรียนรู้ในภาคทฤษฎีแล้ว ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนลงพื้นที่ทำวิจัยจริงด้วย เช่น การลงพื้นที่ไปยังแม่น้ำในตัวเมือง เพื่อเก็บตัวอย่างของสัตว์น้ำและนำกลับมาวิเคราะห์ เป็นต้น และนับว่าโชคดีที่วันนั้นทางโรงเรียนได้จัดงานวัฒนธรรมประจำปี (School Festival) ขึ้นเช่นกัน ทำให้ได้เห็นความสามารถของนักเรียนที่หลากหลาย เช่น การร้องเพลงเชียร์ การทำกิจกรรมชมรม นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีชงชา ซึ่งเป็นพิธีเก่าแก่ของโรงเรียน
การเดินทางวันที่ 3
อีกหนึ่งโรงเรียนเครือข่ายที่คณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม นั่นก็คือ Aichi Prefectural Handa Senior High School ซึ่งหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องหลักสูตรและมีการเยี่ยมชมห้องเรียน ห้องปฏิบัติการภายในโรงเรียนแล้ว ทั้งหมดได้ไปเยี่ยมชมหอสมุดประจำเมือง และการสร้าง Dashi ซุ้มไม้เคลื่อนที่ ที่มีความสูงประมาณ 8 เมตร โดยมีชาวเมืองเป็นผู้ก่อสร้างและแกะสลัก ซึ่งทุก ๆ 5 ปี ชาวเมืองฮันดะ จะมีเทศกาลการแห่ไปรอบ ๆ เมือง
การเดินทางวันที่ 4
คณะฯ ได้เข้าพบผู้บริหารหลักสูตร International Undergraduate Program (iUP) ของ Kyoto University ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และมีนักเรียนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ สมัครเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องเรียนคอร์สปรับพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงคอร์สภาษาญี่ปุ่นแบบเข้มข้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นในการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันได้ โอกาสนี้ ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รวมไปถึงศักยภาพของนักเรียนในด้านการทำวิจัยให้กับผู้บริหารของหลักสูตรทราบด้วย จากนั้น ทั้งหมดได้เดินชมมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าห้องปฏิบัติการต่าง ๆ พร้อมไปด้วยและเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพในการศึกษาและการวิจัยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตลอดการเดินเยี่ยมชม ได้มีนักเรียนเก่ามาร่วมอธิบายสถานที่ต่าง ๆ และคอยอำนวยความสะดวก
หลังจากนั้น ในช่วงระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ผู้บริหารและคณะครูได้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรม Japan Super Science Fair 2022 ณ Ritsumeikan High School
การเดินทางไปครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างการรับรู้ถึงตัวตนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้สถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นได้รับรู้และปูทางในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้กับนักเรียนปัจจุบันแล้ว ยังได้นำประสบการณ์จากการเยี่ยมชมมาถ่ายทอดให้กับคณะครูและนักเรียนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างกิจกรรมต่อไป
สุดท้าย นักเรียนเก่าทั้งหมดได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำมาพัฒนาโรงเรียน และฝากถึงรุ่นน้องที่มีความฝันศึกษาต่อต่างประเทศให้เตรียมตัวอย่างเต็มที่ เพราะการได้มาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศแห่งวิทยาการและนวัตกรรม เป็นเหมือนการเปิดโลกประสบการณ์ใหม่ที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ทุกคนสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงเป็นประเทศหนึ่งที่เหมาะกับโรงเรียนที่เน้นการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นเช่นมหิดลวิทยานุสรณ์
ธนภัทร สินธวาชีวะ (ภาพ/เรื่อง)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (เรียบเรียง)