โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ Ritsumeikan High School ประเทศญี่ปุ่น ร่วมมือกันจัดกิจกรรมโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรม RITS – MWIT Online Exchange Program 2022 ขึ้น ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม พ.ศ. 2565
การจัดกิจกรรมโครงการแลกเปลี่ยนของทั้งสองโรงเรียน Ms. Nanako Takeda อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ ของ Ritsumeikan High School และ อาจารย์ธนภัทร สินธวาชีวะ กิจกรรมวิเทศสัมพันธ์ ได้หารือร่วมกันถึงรูปแบบการจัดกิจกรรม โดยมีการนำประสบการณ์จากการจัดกิจกรรมครั้งที่ผ่านมาปรับให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งโครงการยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมตามความสนใจ และมุ่งเน้นให้นักเรียนสร้างมิตรภาพและฝึกฝนการทำงานเป็นกลุ่มผ่านระบบบัดดี้ ซึ่งแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มละ 4 คน มีนักเรียนจากโรงเรียนละ 2 คน เป็นสมาชิกของกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นการสร้างความสนิทสนมและเรียนรู้ระหว่างกันยิ่งขึ้น
กิจกรรมเริ่มขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยมี Mr. Yasuhiro Higashitani ผู้อำนวยการ Ritsumeikan High School และ ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ร่วมกล่าวต้อนรับนักเรียน โดย ดร.วรวรงค์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ที่ทำให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ วัฒนธรรม และมิตรภาพระหว่างกัน แม้จะประสบปัญหาของโควิด-19 ก็ตาม พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้นักเรียนรักษามิตรภาพที่ดีต่อไปแม้ว่าจะจบกิจกรรมแล้วก็ตาม ในอนาคตอาจจะได้ทำงานร่วมกันอีกก็เป็นได้
ในช่วงสองวันแรก นักเรียนทั้งสองโรงเรียนได้ทำความรู้จักกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมทางด้านวิชาการและวัฒนธรรม
- การบรรยายพิเศษในหัวข้อ Botany ซึ่งเป็นการสอนการจำแนกสิ่งมีชีวิตอย่างง่าย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนออกแบบพืชกินแมลงชนิดใหม่และนำเสนอร่วมกับเพื่อน ๆ
- กิจกรรม Amazing Thailand and Japan นักเรียนจะได้นำเสนอมุมมองทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ อาทิ อาหารที่มีชื่อเรียกโดยใช้ชื่อเมืองหรือชื่อประเทศ เช่น ขนมโตเกียว ข้าวผัดอเมริกัน รวมไปถึงวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลองทำกิจกรรม Creating Fusion Dish คิดเมนูใหม่ที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบของ 2 ประเทศ เช่น ดังโงะลูกชุบ ข้าวซอยทงคัตสึ เป็นต้น
- กิจกรรม Language Class โดยนักเรียนทั้งสองโรงเรียนได้ผลัดกันสอนภาษาของตนเองให้กับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ที่พบบ่อย การนับเลข การสร้างประโยคอย่างง่าย การฝึกเขียนชื่อ รวมถึงการใช้คำศัพท์ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
- กิจกรรม Designed Activities and Games เป็นกิจกรรมที่นักเรียนออกแบบเอง โดยของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นเกมวาดรูปทายคำ (Gartic Phone) ส่วนนักเรียน Ritsumeikan High School เป็นเกมทำท่าทางตามคำบอก (Gesture Game) และเกมค้นหาคนร้ายจากคำใบ้ที่ได้รับ (World Wolf)
- กิจกรรม Mini Discussion นักเรียนทุกคนได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ร่วมกันในหัวข้อ
- High School students should not have school uniforms.
- High School students should not have any homework.
- All high school students should study abroad at least once in three years.
- Which SDGs are you most interested in?
- What do you want to become in the future? How do you want to help to make the world a better place?
- กิจกรรม Closing Ceremony การแสดงทางวัฒนธรรมผ่านการเล่นเกม โดยของไทยเป็นการทำกิจกรรมชาเลนจ์การละเล่นไทย ให้เพื่อน ๆ ได้ทดลองเล่นดีดยางลบ เป่าหนังยาง และดีดลูกแก้ว ว่าจะสามารถเล่นผ่านได้ในภายในกี่ครั้ง ขณะที่ของทางญี่ปุ่นเป็นเกมทายปริศนา จากนั้นครูและนักเรียนต่างได้กล่าวแสดงความประทับใจที่มีต่อกัน เป็นการปิดท้ายกิจกรรรม
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งสองโรงเรียนต่างมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม โรงเรียนละ 10 คน ซึ่งในส่วนของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นั้น ประกอบไปด้วย นายณัฐพฤกษ์ ศักดาภิพาณิชย์ นักเรียนชั้น ม.4/1 นางสาวชัญญา จิรภาวสุทธิ์ นักเรียนชั้น ม.4/2 นายวรัท โสพัศสถิต นักเรียนชั้น ม. 4/9 นางสาวไอริณรยา พิทักษ์วงษ์ นักเรียนชั้น ม.5/3 นายฉัทปนัย ชาวคอนไชย นักเรียนชั้น ม.5/3 นายณัทพงศ์ พันเสรีวงศ์ นักเรียนชั้น ม. 5/3 นางสาวจินตนันท์ โตทับเที่ยง นักเรียนชั้น ม.5/6 นายณัชพล วรคุณพิเศษ นักเรียนชั้น ม. 6/6 นายปรมะ ตั้งศิริ นักเรียนชั้น ม. 6/6 และ นายณัฏฐกิตติ์ ศิริกาญจนโรจน์ นักเรียนชั้น ม. 6/10 โดยมี ดร.ธัญนันท์ สมนาม ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ และ อาจารย์ทิวาพร อภัยพัฒน์ ครูสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เป็นผู้ดูแลนักเรียน
กิจกรรมโครงการแลกเปลี่ยนออนไลน์เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างมิตรภาพที่ไร้พรมแดนระหว่างกัน พร้อมทั้งได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การพูดในที่สาธารณะ รวมไปถึงการเป็นผู้นำกิจกรรม
ธนภัทร สินธวาชีวะ (ข้อมูล/ภาพ)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (เรียบเรียง)