โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมการประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ให้กับผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ณ ห้องประชุม สพฐ. และผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุม ร่วมด้วย ผู้บริหารของหน่วยงานความร่วมมือที่ให้การสนับสนุนโครงการฯ ประกอบด้วย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รองศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวในที่ประชุมว่า “ในช่วงที่ผ่านมา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ นำข้อดีของการสอนในแต่ละรูปแบบมาผสมผสานและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เหล่านั้น เพื่อร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับนักเรียน
สิ่งที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เรื่องการจัดการเรียนการสอนที่นักเรียนเกิดการเรียนรู้ควบคู่กับความสนุก เพราะการเรียนการสอนที่สนุกจะทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกอยากเรียน เราจะไม่เน้นเรื่องการทำข้อสอบ แต่เน้นเรื่องการลงมือปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมของนักเรียนให้เกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งโครงการนี้นอกจากการพัฒนาครูแล้ว เรายังมีนโยบายสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีอุปกรณ์ในการทำการทดลองอย่างเพียงพอ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ นักเรียนได้มีโอกาสใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทดลอง รู้สึกสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ในส่วนของการอบรมวิทยากร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน เพื่อรับทราบข้อมูลเชิงลึก ข้อจำกัด และบริบทของโรงเรียน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินการที่เหมาะสม และจะมีการติดตามวิทยากรในช่วงของการอบรม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น”
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (สรุป/รายงาน)