นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Human Relation in Physical and Cyber Space” กับนักเรียนจาก Ritsumeikan High School แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564
การอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Human Relation in Physical and Cyber Space” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้ที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญต่อสังคมในปี ค.ศ. 2050 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกำหนดรูปแบบและทิศทางของการสื่อสารในอนาคต ด้วยเหตุนี้ Ritsumeikan University จึงได้เชิญนักเรียน Ritsumeikan High School จำนวน 41 คน และนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 36 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีการจัดกิจกรรม การฟังการบรรยายพิเศษ (Mini-lecture) การใช้เครื่องมือวิจัยมาอธิบายให้เหตุผล (Research equipment demonstration) การอภิปรายกลุ่ม (Group Debate) Discussion และการนำเสนอผลงาน (Presentation) ผ่านการร่วม workshop 3 ครั้ง ในวันที่ 18, 25 พฤษภาคม และ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ครั้งละ 2 ชั่วโมง ผ่านระบบออนไลน์
สำหรับกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์มีรายละเอียดดังนี้
สัปดาห์ที่ 1
นักเรียนได้รับฟังบรรยายพิเศษจาก Dr. Tianyi WANG ซึ่งเป็น Senior Researcher จาก Department of Robotics, Faculty of Science and Engineering, Ritsumeikan Global Innovation Research Organization, Ritsumeikan University เกี่ยวกับ “Moonshot Research and Development Program” ซึ่ง Dr. Tianyi WANG ได้อธิบายถึงจุดมุ่งหมายของโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม และได้นำเสนอผลการวิจัย ซึ่งขณะนี้ทางทีมผู้วิจัยกำลังพัฒนาเทคโนโลยี RGB Camera ไว้สำหรับอ่านสีหน้าและความรู้สึกของผู้พูด จากนั้น นักเรียนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและมุมมองที่ต่อ “Mind-Read Technology will bring Positive/Negative Effect to the Future Society.” หากในอนาคตมีการนำเทคโนโลยีอ่านใจคนมาใช้ จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบอย่างไร และช่วงท้าย ผู้จัดงานได้เปิดโอกาสให้นักเรียนทั้ง 2 โรงเรียนได้ทำความรู้จักกัน ก่อนที่จะต้องทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันในสัปดาห์ถัดไป
สัปดาห์ที่ 2
สัปดาห์นี้ได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 10 กลุ่ม และแต่กลุ่มจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย ทีม Positive และ ทีม Negative คละโรงเรียนกัน โดยทั้งสองทีมในแต่ละกลุ่ม จะต้องอภิปรายถึงผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบเกี่ยวกับเทคโนโลยีอ่านใจคนได้ แลกเปลี่ยนมุมมองว่ารู้สึกชอบหรือไม่ชอบเทคโนโลยีนี้อย่างไร พร้อมทั้งเตรียมตัวนำเสนอข้อมูลในสัปดาห์ถัดไป โดยทุกกลุ่มจะมี Teacher Assistant ของ Ritsumeikan University ช่วยดูแลและให้คำแนะนำในการอภิปราย รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วง workshop
สัปดาห์ที่ 3
การนำเสนอผลงานในสัปดาห์นี้ นอกจากจะมีนักเรียนและคณะผู้จัดงานจาก Ritsumeikan University เข้าร่วมรับฟังแล้ว ยังมีแขกรับเชิญพิเศษอย่าง Dr. Sachiko Kuno ซึ่งเป็น Program Vision Leader ของโครงการ มาร่วมฟังการนำเสนอ พร้อมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ The Cabinet Office of Japan, Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology และ Japan Science and Technology Agency (JST) โดยแต่ละกลุ่มจะต้องนำเสนอมุมมองทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ภายในเวลา 5 นาที กรรมการจะประเมินทักษะการพูดประกอบกับเนื้อหาการนำเสนอ หากทีมใดได้รับรางวัล L.E. Challengers สมาชิกในทีมจะได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “SICE Division of Life Engineering 2021 (SICE LE2021)” ช่วงระหว่างวันที่ 3 -5 กันยายน พ.ศ. 2564 ในรูปแบบออนไลน์
ก่อนการประกาศผลรางวัล Dr. Sachiko Kuno, Program Vision Leader ของโครงการนี้ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Striving for Better World!” ให้กับนักเรียนด้วย และเมื่อถึงเวลาประกาศผลรางวัล ปรากฎว่า นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์สามารถทำผลงานร่วมกับเพื่อน ๆ จาก Ritsumeikan High School ได้อย่างยอดเยี่ยม และได้รางวัลดังนี้
รางวัล L.E. Challengers (ได้รับโอกาสให้ร่วมงาน SICE LE2021)
- กลุ่มของ นายวุฒิภัทร วุฒิภัทรธรรม นักเรียนชั้น ม.6/4 นางสาวศิรดา จันทร์เชย นักเรียนชั้น ม.6/6 นายธัญธีร์ กีรติเจริญวงศ์ นักเรียนชั้น ม.6/7 และ นางสาวพลอยภัสสร ถิรจิตโต นักเรียนชั้น ม.6/9
- กลุ่มของ นายชิษณุพงศ์ แสงสินธุ์ นักเรียนชั้น ม.6/6 และ นางสาวกิติญาดา ลิมเรืองรอง นักเรียนชั้น ม.6/9
รางวัลพิเศษ Kuno V.L. Special Award ประกอบด้วย นางสาวเบญญาวัธน์ ก้องนาวา นักเรียนชั้น ม.6/7 นางสาวไปรยา ไมยวา พรหมบุตร นักเรียนชั้น ม.6/9 นายณัฐกิตติ์ ชัยเจริญไมตรี นักเรียนชั้น ม.6/1 และ นายทรงโปรด อ่องศรี นักเรียนชั้น ม.6/8
รางวัล Outstanding Speech ประกอบด้วย นางสาวญาณพิชญ์ ธีรฉัตรวัฒน์ นักเรียนชั้น ม.5/5 นายวัชรพงศ์ ทิมคล้ายพชร นักเรียนชั้น ม.6/6 นางสาวนิปุณ ดัชนี นักเรียนชั้น ม.6/2 และ นางสาวภัสนันท์ บวรไกรเลิศ นักเรียนชั้น ม.6/4
รางวัล Outstanding Debate และ รางวัล Outstanding Speech ประกอบด้วย นายธนัท รงค์บัญฑิต นักเรียนชั้น ม.6/4 นายปกรณ์สิทธิ์ สิทธิเวชไทย นักเรียนชั้น ม.6/10 นายโชติพิสิฐ อดุลสีหวัตต์ นักเรียนชั้น ม.6/5 และ นายปาติโมกข์ สหะพล นักเรียนชั้น ม.6/9
ธนภัทร สินธวาชีวะ (ข้อมูล/ภาพ)
ชูเกียรติ วงค์ใจหาญ (กราฟิก)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (สรุป)