ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดงาน MWIT Science Fair 2020 การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับชาติ เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม ระหว่างวันที่ 31 มกราคม –1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
กิจกรรม MWIT Science Fair เป็นเวทีที่ส่งเสริมให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชน เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และโลกทัศน์ทางวิชาการ ฝึกฝนทักษะการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ และค้นหาโอกาสในการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนางานวิจัย อันเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดคุณลักษณะความเป็นนักวิจัยและนวัตกร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดกิจกรรม MWIT Science Fair อย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยเชิญนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ มาร่วมนำเสนอโครงงาน เพื่อให้นักเรียนที่มีความสนใจในการศึกษาและทำวิจัยได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่าย มิตรภาพ และความร่วมมือทางวิชาการต่อไปในอนาคต
การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับชาติ MWIT Science Fair 2020 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด สร้างสรรค์ (Create) สมัครสมาน (Collaborate) และสื่อสาร (Communicate) โดยเชิญนักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนในโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ใน โรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) โรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจากต่างประเทศในเครือข่ายความร่วมมือของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มาร่วมนำเสนอโครงงานของตนเอง ร่วมกับโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงาน 403 คน จาก 73 โรงเรียน รวม 109 โครงงาน
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับเกียรติจาก ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 ณ หอประชุมพระอุบาลี คุณูปมาจารย์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดย ดร. คุณหญิงกัลยา ได้กล่าวถึงการจัดงาน ใจความสำคัญว่า
“รู้สึกภาคภูมิใจและยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานเปิดงาน เป็นครั้งแรกที่เห็นนักเรียนที่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จำนวนมากในประเทศไทยมาอยู่พร้อมกัน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าในศตวรรษที่ 21 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมให้เด็กไทยเท่าทัน เท่าเทียม ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจะนำพาประเทศไปแข่งขันกับคนอื่นได้ โดยเราจะเห็นว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด จึงอยากให้มีเวทีนำเสนอผลงานอยู่เรื่อยๆ โอกาสนี้ ขอขอบคุณโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่ตั้งใจจัดงาน เพื่อให้ทุกคนได้มาเจอกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ให้ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งคุณครูและเด็ก ขอฝากความหวังไว้กับทุกคนที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยหวังว่าการจัดงานนี้จะช่วยนำไปสู่การพัฒนาวงการการศึกษาและวงการวิทยาศาสตร์ต่อไป”
นอกจากนี้ในพิธีเปิด ยังมีการบรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท นักเรียนเก่าของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รุ่นที่ 7 ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2556 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก Preclinical Sciences ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยายาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “The Path from Basic Science Research to Drug Discovery and Industrial Application” และ การนำเสนอผลงานโครงงานของนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอในพิธีเปิด จำนวน 3 โครงงาน ประกอบด้วย
- โครงงานสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เรื่อง “อัลกอริทึมตรวจนับจำนวนรถเพื่อศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณรถกับ ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ กรณีศึกษาโรงเรียนเซนต์นิโกลาส จังหวัดพิษณุโลก ” โดย นายปิยะวัฒน์ แก้วยม นายพศิน อ่ำวงศ์ และ นาย วิชยุตม์ เกิดไชย จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก
- โครงงานสาขาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรื่อง “การระบุสปีชีส์ของเพรียงหินวงศ์ Chthamalidae ที่พบในภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยใช้ลำดับเบสของยีน Cytochrome c oxidase subunit I (COI)” โดย นายพิสิษฐ์ แสนจันทร์ จาก โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา
- โครงงานสาขาเคมี เรื่อง “ชุดทดสอบคลอรามีน: นวัตกรรมเซนเซอร์เชิงสีเพื่อพัฒนากระบวนการบำบัดน้ำในสระว่ายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” โดย นางสาวอธิชา สันติลินนท์ นายณัฐประวีร์ ปัถยาวิชญ์ และ นายณภัทร สัจจมงคล จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
กิจกรรมภายในงาน MWIT Science Fair 2020 นอกจากจะมีการนำเสนอโครงงานทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรม Science Activities ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ออกแบบให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของวิทยากรในสาขาต่าง ๆ ผ่านกิจกรรม Life Journey after School เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในอนาคตให้แก่นักเรียน
ปริญญา เพ็ชรวารี (ภาพ)
อรสิริ อิ่มสุวรรณ์ (สรุป/รายงาน)