นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในงาน The GALESS TiltShift Challenge 2025 (Empty Pocket: Vienna Conference) ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
The GALESS TiltShift Challenge 2025 (Empty Pocket: Vienna Conference) จัดโดย Global Alliance of Leading Edge Schools for Sustainability ร่วมกับ โรงเรียน Wiedner Gymnasium ภายใต้ธีมหัวข้อ “Empty Pocket” โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 7 ทีม จาก 6 ประเทศ ได้แก่
- ประเทศร่วมงานแบบออนไซต์ ประกอบด้วย ประเทศไทย สาธารณรัฐออสเตรีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์
- ประเทศร่วมงานแบบออนไลน์ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และสาธารณรัฐยูกันดา
โดยผู้เข้าร่วมงานจะต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ Economic Inequality, Social Equity, Sustainable Consumption หรือ Resource Depletion แล้วนำเสนอปัญหา พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไข ซึ่งผู้ร่วมงานจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองความคิดร่วมกับผู้เข้าร่วมงานจากประเทศอื่น ๆ ด้วย
อาจารย์ธัญญรัตน์ ดำเกาะ ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นำนักเรียนจำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายณรงค์วัส วาจรัต นักเรียนชั้น ม.5/8 นางสาวภิญญาพัชญ์ เสียมไธสง นักเรียนชั้น ม.6/7 และนายอัครภาคย์ ก้องศิริวงศ์ นักเรียนชั้น ม.6/10 ร่วมนำเสนอผลงานเรื่อง The Issue of Income Inequality among Farmers: Solution Model to Reduce Disparity in Nakhon Ratchasima Region, Thailand
นอกจากนักเรียนจะได้นำเสนอผลงานของตนเองและรับฟังการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมงานกลุ่มอื่น ๆ แล้ว ยังได้ร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
- การรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับ Social inequality จาก Keynote Speaker ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น Dr. Julia Hofmann จากมหาวิทยาลัยเวียนนา และตัวแทนจากเครือข่ายต่อต้านความยากจน Die Armutskonferenz
- กิจกรรม workshop เกี่ยวกับการติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงช่องว่างทางสังคม ผ่านการสังเกตและเก็บข้อมูลจากผู้ที่ไม่มีปากเสียงในสังคม เช่น กลุ่มผู้อพยพและคนไร้บ้าน โดย กับ Dr. Verena Plutzar จากมหาวิทยาลัยเวียนนา และ workshop เกี่ยวกับ Climate Justice and System Analysis โดย Dr. Elliott Woodhouse และ Aleksandra Cofala นักวิจัยของ IIASA Laxenburg
- กิจกรรมศึกษาดูงานในแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ได้แก่ United Nations Office in Vienna, Schönbrunn Zoo (ช่วงกลางคืน), เขตเมืองเก่าของเวียนนา มหาวิหารเซนต์สตีเฟน พระราชวังฮอฟบูร์ก มหาวิทยาลัยเวียนนา ศาลาว่าการกรุงเวียนนา
พร้อมกันนี้ คณะทั้งหมดได้เข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งได้มีการแสดงความขอบคุณ Wiedner Gymnasium ผู้จัดงานในครั้งนี้ ที่ทำให้เยาวชนได้มีโอกาสศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความยากจนและความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวที่พบเห็นได้ในสังคม
และมีส่วนร่วมในการปลูกฝังเยาวชน ให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และใช้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งการที่แต่ละประเทศมีปัญหาความไม่เท่าเทียมในบริบทที่แตกต่างกัน ทำให้เยาวชนมีมุมมองในเรื่องนี้ที่กว้างขึ้น และเห็นโอกาสในการแก้ปัญหาได้มากขึ้น
ธัญญรัตน์ ดำเกาะ, งานวิเทศสัมพันธ์ (ข้อมูล/ภาพ)
ศูนย์พัฒนาสื่อดิจิทัล (เรียบเรียง)